Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1. เพื่อศึกษาการอนุมานสาเหตุความรับผิดชอบต่อการเกิดปัญหาและการแก้ไขปัญหาทางการเรียนและรูปแบบการช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาของนิสิตนักศึกษา 2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการอนุมานสาเหตุความรับผิดชอบต่อการเกิดปัญหาและการแก้ไขปัญหาทางการเรียนของนิสิตนักศึกษา จำแนกตาม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพศ และสาขาวิชา 3. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาของนิสิตนักศึกษา จำแนกตาม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพศ และสาขาวิชา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นิสิตระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 854 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ แบบสำรวจตนเองด้านการเรียน และแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือและการเผชิญปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง และวิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีของ Dunnette's T3 ผลการวิจัยพบว่า 1. นิสิตนักศึกษาอนุมานสาเหตุว่าตนมีความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาด้านการเรียนมาก แต่ทั้งตนและผู้อื่น/สิ่งอื่นรับผิดชอบต่อการเกิดปัญหาด้านการเรียน 2. นิสิตนักศึกษาโดยทั่วไปเลือกรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาแบบการสร้างแรงจูงใจให้เผชิญปัญหาได้ด้วยตนเอง แบบการให้/ใช้แหล่งสนับสนุนเพื่อเผชิญปัญหาได้ด้วยตนเอง และแบบการให้/ใช้แนวทางในการแก้ปัญหา มากตามลำดับ และเลือกรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาแบบการให้/รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ปานกลาง 3. นิสิตนักศึกษาทั้งชายและหญิง ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันและสาขาวิชาแตกต่างกันมีความรับผิดชอบต่อการเกิดปัญหาและต่อการแก้ไขปัญหาด้านการเรียนไม่แตกต่างกัน 4. ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางของรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาจำแนกตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพศ และสาขาวิชา ที่มีนัยสำคัญดังนี้ 4.1 นิสิตนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับดีเลิศ เลือกรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาแบบการสร้างแรงจูงใจให้เผชิญปัญหาได้ด้วยตนเอง และแบบการให้/ใช้แหล่งสนับสนุนเพื่อเผชิญปัญหาได้ด้วยตนเอง มากกว่านิสิตนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับปานกลาง 4.2 นิสิตนักศึกษาชายเลือกรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและการเผชิญปัญหาแบบการให้/รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่านิสิตนักศึกษาหญิง ในขณะที่นิสิตนักศึกษาหญิงเลือกรูปแบบการสร้างแรงจูงใจให้เผชิญปัญหาได้ด้วยตนเองมากกว่านิสิตนักศึกษาชาย