Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมของภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ 2510 – 2530 ผ่านภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมจำนวน 12 เรื่อง ร่วมกับเอกสารประเภทอื่น ๆ อาทิ ข่าวหนังสือพิมพ์ วรรณกรรม โปสเตอร์ภาพยนตร์ บทสัมภาษณ์ผู้กำกับภาพยนตร์ และคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ร่วมสมัย
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการถกเถียงปัญหาสังคมในพื้นที่สาธารณะกับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมนั้น ๆ ของภาพยนตร์ไทย ปัญหาสังคมไทยที่ปรากฏเป็นประเด็นอภิปรายในภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมล้วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีปัญหาหลัก ๆ ที่ได้รับการอภิปรายอยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ ปัญหาชนชั้นแรงงาน ปัญหาโสเภณีไทย ปัญหาครอบครัวชนชั้นกลาง และปัญหาชนบทไทย คำถามการวิจัยของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมใดบ้างที่ส่งผลต่อการผลิตภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมของในทศวรรษ 2510 ถึงทศวรรษ 2530 ภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมแสดงให้เห็นกระบวนการให้ความหมายและการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมดังกล่าวอย่างไร ภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมเหล่านี้มีบทบาทอย่างไรในการอภิปรายและถกเถียงกับวาทกรรมอื่น ๆ ที่แวดล้อมปัญหาสังคมดังกล่าว
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่าภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมในทศวรรษ 2510 ถึงทศวรรษ 2530 สร้างขึ้นโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ ที่ได้รับการศึกษาด้านภาพยนตร์โดยตรงและสนใจปัญหาสังคมร่วมสมัย เช่น หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และยุทธนา มุกดาสนิท ภาพยนตร์เหล่านี้มีบทบาทมิใช่เพียงการสะท้อนปัญหาสังคมดังที่มักเสนอกันในงานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์และวรรณคดีเปรียบเทียบ แต่เป็นวาทกรรมที่แสดงให้เห็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับที่มา ลักษณะและผลกระทบของปัญหาสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวมุ่งสร้างการรับรู้ปัญหาสังคมผ่านวาทกรรมเรื่องความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกระแสภูมิปัญญาของปัญญาชนหัวก้าวหน้า แต่แตกต่างไปจากการรับรู้ปัญหาสังคมของภาครัฐ ในขณะที่ภาพยนตร์แนวปัญหาสังคมในช่วงกลางทศวรรษ 2520 ถึงทศวรรษ 2530 มุ่งสร้างการรับรู้และการอธิบายปัญหาสังคมในลักษณะที่สอดคล้องกับความคิดของภาครัฐ และปัญญาชนกลุ่ม “วัฒนธรรมชุมชน” มากกว่า ทั้งนี้เนื่องมาจากการเสื่อมความนิยมของกระแสแนวคิดสังคมนิยมซ้ายใหม่ในหมู่ปัญญาชนในช่วงเวลาดังกล่าว