Abstract:
หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคความเสื่อมของระบบประสาทนั้นเกิดได้จากภาวะเครียดออกซิเดชันภายในเซลล์ประสาท โดยพบว่าสารสื่อประสาทชนิดกลูตาเมตเมื่อมีระดับสูงผิดปกติสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระและภาวะเครียดออกซิเดชันนำไปสู่การสูญเสียและการตายของเซลล์ประสาทได้ โดยเฉพาะการตายของเซลล์จากการเกิดกระบวนการออโตฟาจีมากเกินไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการตายของเซลล์ผ่านวิถีอื่นๆ รางจืด (Thunbergia laurifolia) เป็นพืชสมุนไพรไทยมีสรรพคุณในการถอนพิษ ต้านการอักเสบ และ ต้านอนุมูลอิสระได้ดี จุดประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ศึกษาคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหยาบจากใบรางจืด และการปกป้องการตายของเซลล์ประสาทผ่านวิถีออโตฟาจี จากการเหนี่ยวนำภาวะเครียดออกซิเดชันด้วยกลูตาเมตโดยทดสอบในเซลล์ประสาทส่วนฮิปโปแคมปัสของหนูชนิด HT-22 ใบรางจืดถูกนำมาสกัดด้วยเอทานอล จากผลการทดสอบพบว่าสารสกัดหยาบจากใบรางจืดมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และมีปริมาณสารประกอบ ฟลาโวนอยด์และฟีนอลิกสูง โดยจากการวิเคราะห์ด้วยเครื่อง LC-MS และเปรียบเทียบผลที่ได้กับฐานข้อมูล METLIN-(CA, USA) พบสารออกฤทธิ์สำคัญที่ยังไม่มีรายงานในสารสกัดเอทานอลของใบรางจืด ได้แก่ Apigenin 7-O-glucoside และ 7-Hydroxycoumarin ยิ่งไปกว่านั้นสารสกัดหยาบจากใบรางจืดยังสามารถลดการตายของเซลล์ประสาทจากการเหนี่ยวนำความเป็นพิษด้วยกลูตาเมต โดยสามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระภายในเซลล์ และเพิ่มการแสดงออกของยีนต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ได้แก่ superoxide dismutase 1 และ 2 (SOD1 and SOD2) catalase (CAT) และ glutathione peroxidase (GPx) ซึ่งสัมพันธ์กับการลดการเกิดกระบวนการออโตฟาจีภายในเซลล์และเพิ่มปริมาณ ไมโตคอนเดรียโปรตีน โดยพบว่าสารสกัดหยาบจากใบรางจืดสามารถลดอัตราส่วนการแสดงออกของโปรตีน LC3B-II/LC3B-I และเพิ่มการแสดงออกของไมโตคอนเดรียโปรตีน TOM20 เมื่อทำการตรวจหาตำแหน่งที่จำเพาะต่อการแสดงออกของโปรตีนในกระบวนการออโตฟาจี (LC3B) และไมโตคอนเดรียด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดคอนโฟคอล พบว่า สารสกัดหยาบจากใบรางจืดสามารถลดการเกิด LC3-puncta ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของการเกิดกระบวนการออโตฟาจี นอกจากนี้สารสกัดหยาบจากใบรางจืดยังลดการ colocalization ของ LC3B และไมโตคอนเดรีย จากผลการศึกษานี้เราพบสารออกฤทธิ์สำคัญใหม่ที่ยังไม่มีรายงานมาก่อนของใบรางจืด โดยสารออกฤทธิ์นี้มีความสามารถในการปกป้องเซลล์ประสาทชนิด HT-22 จากภาวะเครียดออกซิเดชันและเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สารสกัดจากใบรางจืดมีความสามารถลดการตายของเซลล์ประสาทผ่านวิถีออโตฟาจีได้ ซึ่งอาจสามารถนำไปพัฒนาเป็นสมุนไพรทางเลือกหรือยาเพื่อใช้ในการป้องกันหรือรักษาการเกิดโรคความเสื่อมของระบบประสาทได้ในอนาคต