Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและหาแนวคิดที่ได้จากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่สะท้อนถึงคุณสมบัติของกรรมการในอุดมคติที่ใช้พิจารณาผลงานด้านนาฏยศิลป์ โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้องานวิจัย สื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ การสัมมนาวิชาการ การสัมภาษณ์ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการ วิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ดำเนินการตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ที่มีองค์ประกอบ 8 ประการ คือ 1) บทการแสดง นำโครงสร้างมาจากคุณสมบัติของกรรมการด้านจริยธรรม 6 ประการ ได้แก่ ทัศนคติและเจตนาที่บริสุทธิ์ ภาวะผู้นำ อำนาจและอิสระในการตัดสินใจ ความเสมอภาค ความซื่อสัตย์สุจริต และความยุติธรรม โดยแบ่งบทการแสดงออกเป็น 7 องก์ ได้แก่ องก์ 1 โต้แย้ง องก์ 2 ผู้นำและผู้ตาม องก์ 3 ความกดดันจากอำนาจ องก์ 4 ปิดหูปิดตาด้วยอคติ องก์ 5 ทุจริตใต้โต๊ะ องก์ 6 อยุติธรรม และองก์ 7 หายนะจากการกระทำผิดคำสาบาน 2) ลีลานาฏยศิลป์ ผสมผสานนาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตก นาฏยศิลป์พื้นเมือง การเล่นเงา ละครใบ้ และลีลาการเคลื่อนไหวแบบเรียบง่าย การเคลื่อนไหวแบบในชีวิตประจำวัน ตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 3) นักแสดง คัดเลือกจากผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนาฏยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์ตะวันตก 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ได้แก่ เก้าอี้สำนักงาน โต๊ะ ผ้าสีดำ แท่นรับรางวัลกีฬา และคานหาบ 5) เสียงและดนตรีประกอบการแสดง เป็นการบรรเลงแบบด้นสดที่ผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองจากวัฒนธรรมไทย จีน ทิเบต ละตินและแอฟริกาเข้าด้วยกัน 6) เครื่องแต่งกาย ใช้ชุดสูทแบบสากลนิยม และการออกแบบเสื้อผ้าที่มีโครงสร้างแบบไม่สมมาตร สีขาว-ดำ และชุดโนราแบบประยุกต์ 7) พื้นที่แสดง เป็นโรงละครแบล็คบอกซ์ และ 8) การใช้แสงสังเคราะห์เพื่อส่งเสริมอารมณ์และบรรยากาศในการแสดง นอกจากนี้ ยังค้นพบแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏยศิลป์ที่มีข้อควรคำนึง 7 ประการ ได้แก่ 1) คุณสมบัติของกรรมการพิจารณาผลงานด้านนาฏยศิลป์ 2) การสะท้อนสภาพสังคมโดยใช้นาฏยศิลป์ 3) การสื่อสารกับผู้ชม 4) ความคิดสร้างสรรค์ในผลงานนาฏยศิลป์ 5) ความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 6) การใช้สัญลักษณ์ในผลงานนาฏยศิลป์ และ 7) ทฤษฎีทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งผลการวิจัยมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ งานวิจัยฉบับนี้จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ เชื่อมโยงประสบการณ์และพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการด้านนาฏยศิลป์ และเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต