Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของระดับความอิ่มตัวทรานส์เฟอร์ริน (TSAT) กับดัชนีการดื้อยาอีริโทรโพอิติน (ERI) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 วิธีการวิจัย: ในการศึกษาเชิงวิเคราะห์จากเหตุไปหาผลแบบย้อนหลังนี้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 ที่ได้รับยาอีริโทรโพอิตินและมีการตรวจวัด TSAT ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในช่วง ม.ค. 2560 ถึง ธ.ค. 2562 ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยค่ามัธยฐานของระดับ TSAT (median TSAT) เพื่อเปรียบเทียบค่า ERI ที่คำนวณมาจากขนาดยาอีริโทรโพอิตินที่ใช้ต่อน้ำหนักตัวต่อสัปดาห์ (IU/kg/week) หารด้วยระดับฮีโมโกลบิน (g/dl) ระหว่างผู้ป่วย 2 กลุ่ม ผลการวิจัย: ผู้ป่วย 502 คนที่เข้าร่วมในการศึกษา มีค่ามัธยฐานของ TSAT เท่ากับร้อยละ 26.0 [IQR: ร้อยละ 17.9, ร้อยละ 36.0] และมัธยฐานของ ERI เท่ากับ 16.42 [IQR: 11.26, 21.25] IU/kg/week per g/dl มีผู้ป่วยในกลุ่มที่มี TSAT สูงกว่าค่ามัธยฐาน (>median TSAT) 246 คน และกลุ่ม TSAT ต่ำกว่าหรือเท่ากับค่ามัธยฐาน (≤median TSAT) 256 คน พบว่า ค่า ERI ในผู้ป่วยกลุ่ม >median TSAT ต่ำกว่ากลุ่ม ≤median TSAT อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (15.04 [IQR: 9.74, 20.25] เทียบกับ 17.06 [IQR: 12.12, 22.50] IU/kg/week per g/dl ตามลำดับ, P= 0.003)
สรุปผลการวิจัย: ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาอีริโทรโพอิติน และมีระดับของ TSAT สูงกว่าร้อยละ 26.0 มี ERI ที่ต่ำกว่าผู้ป่วยที่มีระดับ TSAT ต่ำกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 26.0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า การมีระดับ TSAT ที่สูงกว่าสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อยาอีริโทรโพอิตินที่ดีกว่า