Abstract:
เนื่องจากการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอันเป็นปัญหาที่สำคัญไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นปัญหาที่สังคมระดับโลกต่างให้ความสนใจ ตระหนักถึงและมุ่งแก้ไขปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ผู้เขียนจึงเลือกศึกษาวิจัยในกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม โดยมุ่งศึกษาวิเคราะห์ในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ฉบับเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นกฎหมายเฉพาะในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งพบว่าแม้ว่าในประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างมากมาย แต่เป็นการบัญญัติที่กระจัดกระจายในกฎหมายอื่นๆ และยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมที่ชัดเจน
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. ฉบับเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นฉบับที่ผู้เขียนมุ่งศึกษาวิจัยเป็นฉบับที่ถูกเสนอใน พ.ศ. 2560 โดยคณะรัฐมนตรีและในปัจจุบันถูกพิจารณาให้ตกไป เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลง แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขปรับปรุงจากฉบับที่ถูกเสนอใน พ.ศ. 2550 แต่พบว่ายังคงมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาการบัญญัติคำนิยามที่ไม่ชัดเจนของคู่สมรส บุตร ญาติและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญหาการไม่นำหลักการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะมาใช้ ปัญหาการจำกัดโอกาสในการประกอบวิชาชีพ ปัญหาการบัญญัติลักษณะและข้อห้ามของการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ปัญหาการกำหนดบทลงโทษ ปัญหาหน่วยงานที่เข้ามาควบคุมและปัญหาอื่นๆ
ผู้เขียนจึงได้นำหลักการ แนวคิด ทฤษฎีทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งในและต่างประเทศ อันได้แก่ ประเทศแคนาดา ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และสาธารณรัฐสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีค่าดัชนีชี้วัดความโปร่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกมาใช้ในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นแนวทางเสนอแนะหากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมถูกนำกลับมาเสนออีกในภายภาคหน้า และเพื่อเป็นการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมต่อไป