Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาหลักการแข่งขันเสรีในมิติของรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติที่มีลักษณะยึดโยงกับหลักการแข่งขันเสรีโดยตรง และมีการใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐ อันจะส่งผลจะกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการในภาคเอกชน แต่ทั้งนี้การเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างภาครัฐกับเอกชน
ผลการศึกษาพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้เริ่มมีการบัญญัติหลักการแข่งขันเสรีไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ พุทธศักราช 2534 และปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ไว้เช่นกัน แต่ปรากฎว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่ได้มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แต่เป็นการบัญญัติไว้อย่างกว้างและโดยอ้อม จึงมีลักษณะเป็นการด้อยค่าในการรับรองหลักการแข่งขันเสรี นอกจากนี้ พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับหลักการแข่งขันเสรี จากพบว่า การกำหนดข้อยกเว้น รัฐวิสาหกิจ ที่ปรากฎในมาตรา 4 (2) ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ในส่วนของการกระทำที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติให้มติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างกฎหมายได้ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีมีหลากหลายสถานะ และมีความเป็นพลวัตสูง ไม่คงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามแต่นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย จึงทำให้เกิดช่องโหว่ของกฎหมายฉบับนี้ ที่อาจทำให้เป็นช่องทางของนักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลทางการเมืองใช้สามารถแสวงหาผลประโยชน์โดยการใช้มติคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
ดังนั้น ต้องมีการบัญญัติรับรองหลักการแข่งขันเสรีในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรดังเดิม รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติที่กำหนดข้อยกเว้นการกระทำของรัฐวิสาหกิจเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 4 (2) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อเกิดการแข่งขันอย่างเสรีและความเสมอภาคอย่างแท้จริงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน