Abstract:
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ รวมถึงกำหนดให้บางตำแหน่งเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ยื่นบัญชี และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย จึงมีประเด็นปัญหาว่าการดำเนินการดังกล่าวมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือไม่
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเก็บรวบรวม การเก็บรักษา การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยศึกษาเปรียบเทียบกับขั้นตอนและวิธีการยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของต่างประเทศ พบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก และข้อมูลบางรายการเป็นการเก็บรวบรวมที่เกินความจำเป็นในการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงมีขั้นตอนและมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้วบางส่วน ผู้เขียนจึงเสนอให้พิจารณารายการข้อมูลที่จำเป็นต้องเก็บรวบรวมเพื่อใช้ในการตรวจสอบตามหลักการประมวลผลข้อมูลเท่าที่จำเป็น รวมถึงเสนอมาตรการเพิ่มเติมในการเก็บรักษา และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างได้สัดส่วน เพื่อให้สามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเหมาะสม และคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล