Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวคิดว่าด้วยความพิการภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี รวมถึงศึกษากฎหมายที่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางของผู้พิการทางสายตาโดยใช้สุนัขนำทางบนความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลระหว่างแนวคิดว่าด้วยความพิการด้านสังคมและแนวคิดว่าด้วยความพิการด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักอัตตาณัติ และความสัมพันธ์เชิงปฏิเสธของแนวคิดว่าด้วยความพิการด้านการแพทย์ภายใต้หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนศึกษาบทบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของผู้พิการทางสายตาโดยใช้สุนัขนำทางของประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า ผู้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขนำทางในประเทศไทยยังคงประสบปัญหา 2 ประการ คือ ประการแรก ปัญหากฎหมายการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางที่ไม่เพียงพอ และกฎหมายที่กีดกันการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522, กฎข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการบรรทุกส่งผู้โดยสารและสัมภาระของผู้โดยสารตามทางรถไฟและอัตราค่าโดยสาร เล่ม 2 พ.ศ. 2469 และอื่น ๆ รวมถึงปัญหาการขาดบทบัญญัติและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมสุนัขนำทาง และประการที่สอง ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาถึงสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศบัลแกเรีย ฝรั่งเศส และโปแลนด์ประเทศอังกฤษ และประเทศออสเตรเลียและรัฐควีนส์แลนด์ พบว่าประเทศเหล่านี้ให้การส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางของผู้พิการทางสายตาโดยใช้สุนัขนำทางอย่างครอบคลุม และสอดคล้องกับความสัมพันธ์เชิงปฏิเสธและเชิงเกื้อกูล ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงนำแนวทางของประเทศดังกล่าวมาเสนอแนะเป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้สุนัขนำทางได้