Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานโดยให้หลักประกันการไม่ฟ้องคดีในคดีทั่วไป ซึ่งผู้วิจัยมุ่งศึกษา ความเป็นมาของมาตรการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน แนวความคิดของการสั่งคดี มาตรการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานในต่างประเทศ การให้หลักประกันอย่างอื่น เช่น การลดโทษ และการไม่ให้ผู้ต้องหาถูกฟ้องร้องโดยอาศัยคำให้การรับสารภาพของตน เพื่อกำหนดรูปแบบและกระบวนการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานที่เหมาะสมกับประเทศไทย สืบเนื่องจากมาตรการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานในคดีทั่วไปในประเทศไทย อาศัยหลักเกณฑ์ตามระเบียบภายในของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะ ส่งผลให้หลักเกณฑ์ในระเบียบดังกล่าวมีแนวปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งการให้หลักประกันไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกกันไว้เป็นพยานซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดไม่สอดคล้องกับหลักความรับผิดในทางอาญา ประกอบกับการสั่งไม่ฟ้องกรณีกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานควรให้เป็นอำนาจของพนักงานอัยการหรืออัยการสูงสุด ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอแนะให้บัญญัติมาตรการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยยังคงไว้ซึ่งการให้หลักประกันไม่ฟ้องคดี ด้วยเหตุเพราะประโยชน์จากการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานเพื่อซัดทอดตัวการสำคัญมีมากกว่าการลงโทษผู้ต้องหารายนั้น และไม่นำการให้หลักประกันอย่างอื่นมาปรับใช้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย ส่วนผู้สั่งไม่ฟ้องยังควรให้เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้มาตรการจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ทั้งประเภทคดีและปัจจัยที่ต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมและน่าเชื่อถือ รวมทั้งปรับปรุงระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่เสนอแนะ เพื่อให้มาตรการในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม