Abstract:
การติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบดื้อยาหลายขนาน (multidrug-resistant Gram-negative bacteria, MDR-GNB) ในโรงพยาบาลทำให้ผู้ป่วยวิกฤตมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยวิกฤตติดเชื้อในกระแสเลือดจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเภสัชจลนศาสตร์ของยาปฏิชีวนะซึ่งอาจทำให้ระดับยาในพลาสมาไม่เพียงพอต่อการรักษาโดยเฉพาะยา meropenem ซึ่งมักนิยมนำมาใช้รักษาการติดเชื้อ MDR-GNB ในโรงพยาบาล งานวิจัยนี้จึงทำการตรวจติดตามระดับยา meropenem ในผู้ป่วยวิกฤตเด็กเพื่อเปรียบเทียบระดับยา meropenem ในรูปอิสระที่ mid-dose (Cmid, fT ร้อยละ 50), trough (Ctrough, fT ร้อยละ 100), เปรียบเทียบสัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับยาเป็นไปตาม PK-PD targets (fT>MIC ร้อยละ 50 และ 100) และผลการรักษาทางคลินิกระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับยา meropenem ทางหลอดเลือดดำแบบหยดยืดเวลา (extended infusion, EI) กับแบบหยดยาระยะสั้น (intermittent bolus, IB) ซึ่งงานวิจัยนี้ศึกษาในผู้ป่วยเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึง 18 ปี หลังจากผู้ป่วยได้รับยา meropenem ทุก 8 ชั่งโมงด้วยวิธี EI หรือ IB จากข้อมูลการตรวจติดตามระดับยา meropenem ในผู้ป่วยเด็กจำนวน 72 ราย ขนาดยา meropenem ที่ผู้ป่วยได้รับ คือ 120 และ 60 มก./กก./วัน ด้วยวิธี EI และ IB ตามลำดับ หลังจากวัดระดับยา meropenem ในพลาสมาผู้ป่วยและเปรียบเทียบ Cmid และ Ctrough พบว่า Cmid ของการให้ยาแบบ EI และ IB เท่ากับ 17.3 มก./ล. (13.7-21.8) และ 3.4 มก./ล. (1.7-6.7) (P<0.001) ตามลำดับ Ctrough ของการให้ยาแบบ EI และ IB เท่ากับ 2.3 มก./ล. (1.6-3.4) และ 0.8 มก./ล. (0.4-1.5) (P=0.005) ตามลำดับ นอกจากนี้สัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับยา meropenem เป็นไปตาม PK-PD targets ในกลุ่ม EI มีมากกว่ากลุ่ม IB จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าแบบแผนการให้ยา meropenem 20 มก./กก./ครั้ง ด้วยวิธี IB ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยวิกฤตเด็กเนื่องจากทำให้ระดับยาไม่เพียงพอต่อการรักษา ส่วนแบบแผนการให้ยา meropenem 40 มก./กก./ครั้ง ด้วยวิธี EI สามารถทำให้ Cmid' Ctrough และสัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับยาเป็นไปตาม PK-PD targets สูงกว่า