Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงของภาวะความหนาแน่นของกระดูกต่ำ ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย และการเกิดกระดูกหักในผู้ใหญ่ไทยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือด
วิธีการวิจัย การวิจัยแบบตัดขวางในผู้ใหญ่ไทยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือดในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทำการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกที่กระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) กระดูกสะโพกรวม (total hip) และกระดูกคอสะโพก (femoral neck) ด้วยเครื่อง dual energy X-ray absorptiometry เก็บข้อมูลกระดูกหักจากการซักประวัติและการตรวจทางรังสีของกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว และประเมินภาวะกล้ามเนื้อน้อยตามเกณฑ์วินิจฉัยของ Asian Working Group for Sarcopenia ปี ค.ศ. 2014
ผลการศึกษา ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 116 คน มีค่ามัธยฐานของอายุ 33 (IQR 23-43.5) ปี ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย 20.0 กก./ม.2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดเบต้าฮีโมโกลบินอี พบความหนาแน่นของกระดูกต่ำ (T-score < -1.0) ร้อยละ 93.9 ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 มีภาวะกระดูกพรุน (T-score < -2.5) พบความชุกของการเกิดกระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่รุนแรง (fragility fracture) ร้อยละ 20.7 และภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยร้อยละ 30.2 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความหนาแน่นของกระดูกได้แก่ ดัชนีมวลกาย (กระดูกสันหลังส่วนเอวและสะโพกรวม) ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความหนาแน่นของกระดูกได้แก่ เพศหญิง (กระดูกคอสะโพก) ระดับเฟอร์ริติน (กระดูกสะโพกรวม) ประวัติตัดม้าม (กระดูกสะโพกรวม) และภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (กระดูกสะโพกรวม) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยคือการใช้ยาขับเหล็กชนิด deferiprone (OR 2.37; 95%CI 1.052-5.348, p=0.037) พบว่าผู้ป่วยที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยทุกคนจะมีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ ในทางกลับกัน ร้อยละ 32 ของผู้ป่วยที่มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำจะมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยร่วมด้วย และพบว่าภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่รุนแรง 3.5 เท่า (OR 3.49, 95%CI 1.318, 9.236, P=0.012) ความผิดปกติทางฮอร์โมนที่พบบ่อยที่สุดในการศึกษานี้คือ ภาวะขาดวิตามินดี (ระดับ 25-dihydroxyvitamin D < 20 นก./มล.) คิดเป็นร้อยละ 51 รองลงมาคือระดับ IGF-1 ต่ำ ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือต่ำแบบไม่มีอาการ ระดับฮอร์โมนเพศต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารผิดปกติ (impaired fasting glucose) และระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ ในความผิดปกติทางฮอร์โมนทั้งหมดนี้ พบว่ามีเพียงระดับ IGF-1 ที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความหนาแน่นของกระดูก และมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการเกิดกระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่รุนแรง
สรุป ผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือดมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความหนาแน่นของกระดูกต่ำ ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย และกระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่รุนแรง ดังนั้นจึงควรมีแนวทางคัดกรองและป้องกันภาวะเหล่านี้ เพื่อลดโอกาสในการเกิดกระดูกหักในอนาคต