Abstract:
การได้รับพิษจากการรับประทานแมงดาทะเลจนถึงขั้นเสียชีวิตยังคงพบอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ที่ผ่านมามีการเก็บรวบรวมข้อมูลแต่ยังไม่ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร การวิจัยนี้เพื่อศึกษาถึงการได้รับพิษจากการรับประทานแมงดาทะเลในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2554-2563 โดยวิเคราะห์เชิงระบาดวิทยาตาม บุคคล เวลา สถานที่ และข้อมูลผู้ได้รับพิษจากการรับประทานแมงดาทะเล โดยรวบรวมข้อมูลที่มีการรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2563 ผลการวิจัยพบผู้ได้รับพิษจากการรับประทานแมงดาทะเลรวม 226 ราย พบมากที่สุดในช่วงอายุ 31 - 40 ปี (ร้อยละ 24.8) พบได้บ่อยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยพบมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ (ร้อยละ 22.1) ส่วนใหญ่พบที่ภาคตะวันออก โดยพบมากที่สุดในจังหวัดตราด (ร้อยละ 44.6) ผู้ที่ได้รับพิษจากการรับประทาน พบเป็นสาเหตุจากแมงดาทะเลชนิดหางกลมจำนวน 44 ราย (ร้อยละ 19.5) การรายงานเป็นรูปแบบเดียวกันและมีข้อมูลที่ชัดเจน เช่น ชนิดของแมงดาทะเล แหล่งที่มาของแมงดาทะเล ระยะเวลาตั้งแต่รับประทานจนถึงมีอาการ อาหารหรือเครื่องดื่มที่รับประทานร่วม จะช่วยให้ทราบถึงสาเหตุ หน่วยงานภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักรู้ในการรับประทานแมงดาทะเลแต่ละชนิด ควรกำหนดมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และกำหนดแนวทางการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุการเกิดพิษจากการรับประทานแมงดาทะเลต่อไป