Abstract:
ที่มา จากข้อมูลในปัจจุบันพยาธิสรีรวิทยาและความชุกของการกลืนที่ผิดปกติในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้เพื่อประเมินความชุกและศึกษาการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนคอในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
วิธีการศึกษา ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่การศึกษา ข้อมูลพื้นฐานประชากรและข้อมูลทางการแพทย์ได้รับการบันทึกในแบบบันทึกข้อมูล ผู้ร่วมวิจัยทุกรายจะได้รับการประเมินอาการของการกลืนที่ผิดปกติด้วยแบบทดสอบ swallowing disturbance questionnaire (SDQ) and eating assessment tool (EAT-10) ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการประเมินการกลืนโดยภาพถ่ายรังสี (video fluoroscopic study), ตรวจการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนคอ (pharyngeal manometry) รูปแบบการกลืนการหายใจจะถูกวัดด้วยเซนเซอร์วัดอุณหภูมิของลมหายใจ ความสัมพันธ์ของการกลืนที่ผิดปกติ และการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนคอจะถูกวิเคราะห์ด้วยสถิติ Mann-Whitney U test
ผลการศึกษา จากจำนวนผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด 32 รายที่ถูกคัดเลือกเข้าการศึกษา พบว่า 22 ราย (68.7%) พบการกลืนที่ผิดปกติ โดยพบว่า 9 จาก 22 รายมีอาการกลืนลำบาก (41%) และพบว่าความชุกของการกลืนที่ผิดปกติไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (p=0.70) จากผลตรวจการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนคอพบว่าไม่มีความแตกต่างกันของผู้ป่วยที่มีและไม่มีการกลืนที่ผิดปกติ (p =0.89).
สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีความชุกของการกลืนที่ผิดปกติสูง และแรงในการบีบตัวของช่องคอที่เปลี่ยนไปอาจไม่ใช่กลไกสำคัญในพยาธิสรีรวิทยาการเกิดการกลืนที่ผิดปกติ