Abstract:
ความเป็นมา: ในปัจจุบันพบว่าการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆที่เกี่ยวกับความผิดปกติของจังหวะไฟฟ้าหัวใจอันมีคุณประโยชน์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีรายงานอุบัติการณ์การเกิดภาวะการรั่วของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่เพิ่มขึ้นตามมาได้หลังได้รับการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรโดยอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆตามมา ได้แก่ การมีภาวะหัวใจล้มเหลว, การทำงานของหัวใจฝั่งซ้ายและขวาที่ลดลงจากประชากรทั่วไป และภาวะหัวใจหยุดเต้น
วัตถุประสงค์การวิจัย:วัตถุประสงค์หลัก:เพื่อหาความชุกของการเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ระดับเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร
วัตถุประสงค์รอง: (1).เพื่อหาความชุกของการเกิดผลลัพธ์รวมของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว, การนอนโรงพยาบาลจากหัวใจล้มเหลว และอัตราการตายหลังจากการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรที่ 6 เดือน (2).เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายหลังจากการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรที่ 6 เดือน (3).เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของการบีบตัวของหัวใจห้องล่างขวาหลังจากการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรที่ 6 เดือน
วิธีการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นรูปแบบการศึกษาแบบไปข้างหน้า และย้อนหลังในผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2564 โดยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร (CIEDs) ประกอบไปด้วย PPM (Permanent pacemaker), AICD (Automated Implantable Cardioverter-Defibrillator), CRT-P หรือ CRT-D (Cardiac Resynchronization Therapy Pacemaker/ Defibrillator) โดยมีการทบทวนการตรวจอัลตร้าซาวน์หัวใจของผู้ป่วยทุกราย ศึกษาลักษณะของผู้ป่วย, อัลตร้าซาวน์หัวใจโดยมุ่งเน้นเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับการรั่วของลิ้นหัวใจไตรคัสปิด, ข้อมูลการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรเกี่ยวกับชนิด, รุ่น, ข้อบ่งชี้ในการใส่ รวมไปถึงตำแหน่งที่ได้รับการฝังเครื่อง
ผลการวิจัย: จากการรวบรวมพบว่ามีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การศึกษาแบบย้อนกลับทั้งหมด 587 ครั้งของการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2564 พบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรที่เข้าเกณฑ์การศึกษาทั้งหมด 180 ราย มีอายุเฉลี่ย 70.71±14.6 ปี โดยร้อยละ 60 เป็นเพศชาย จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการฝังอุปกรณ์CIEDs แยกตามชนิด ดังนี้ PPM = 94 ราย, AICD = 53 ราย และ CRT = 33 ราย พบว่าผู้ป่วย 39 ราย (ร้อยละ 21.7) พบการเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ระดับที่ 6 เดือน ซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้รับการฝัง AICD อย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.26, p = 0.005) ในกลุ่มที่พบการรั่วของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่สัมพันธ์กับการเกิดผลลัพธ์รวมของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว, การนอนโรงพยาบาลจากหัวใจล้มเหลว และอัตราการตายที่ 6 เดือนหลังได้รับการฝังเครื่อง (p = 0.587) แต่พบว่าสัมพันธ์กับการบีบตัวที่ลดลงของหัวใจห้องล่างซ้ายอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.002) ซึ่งตรงกันข้ามกับการบีบตัวของหัวใจห้องล่างขวาที่ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ (p = 0.475)
สรุปผลการวิจัย: จากการศึกษาพบว่า เกิดอุบัติการณ์ของการเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ระดับในกลุ่มที่ได้รับการฝังเครื่อง AICDอย่างมีนัยสำคัญ และสัมพันธ์กับการบีบตัวที่ลดลงของหัวใจห้องล่างซ้าย อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องความสำคัญในแง่ผลลัพธ์รวมทางคลินิก และการบีบตัวของหัวใจห้องล่างขวาจากการศึกษานี้