Abstract:
ความสำคัญและที่มา: ภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำเมื่อปวดถ่ายอุจจาระสามารถพบได้ในประชากรทั่วไปแต่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีการขับถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติไม่ว่าจะเป็นภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ หรือ ภาวะท้องผูก แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่ครอบคลุมกลไกในการเกิดภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำเมื่อปวดถ่ายอุจจาระ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระดับการรับความรู้สึกของไส้ตรงในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายร่วมกับมีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายแต่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำโดยใช้เครื่องบาโรสแตท
ระเบียบวิธีการวิจัย: งานวิจัยนี้มีการเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐาน คือ เพศ อายุ ดัชนีมวลกาย ซึ่งไม่แตกต่างระหว่างอาสาสมัครที่ไม่มีความผิดปกติในการขับถ่าย และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายร่วมกับมีและไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ โดยนิยามของภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำคือ มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ระดับความรู้สึกของไส้ตรงแบ่งออกเป็น 8 ระดับ คือ 0 ไม่มีความรู้สึกในไส้ตรง 1 รู้สึกภายในไส้ตรงแต่ไม่ใช่ลมและอุจจาระ 2 รู้สึกว่ามีลมในไส้ตรง 3 รู้สึกอยากผายลม 4 รู้สึกว่ามีอุจจาระในไส้ตรงแต่ไม่ปวดอยากถ่าย 5 รู้สึกปวดอยากถ่ายอุจจาระ 6 รู้สึกต้องรีบเข้าห้องน้ำแต่สามารถกลั้นอุจจาระได้ 7 รู้สึกปวดอยากถ่ายมากไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ โดยใช้เครื่องบาโรสแตทในการตรวจวัดระดับการรับความรู้สึกของไส้ตรงและค่าความยืดหยุ่นของผนังไส้ตรง แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การตรวจโดยเพิ่มความดันครั้งละ 4 มม.ปรอท เริ่มต้นที่ 4 มม.ปรอท คงไว้ที่ 1 นาที จากนั้นปล่อยออก มีระยะเวลาห่างกัน 1 นาที และเพิ่มความดันขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึง 50 มม.ปรอท และขั้นที่ 2 ตรวจโดยการเพิ่มความดันขึ้นเรื่อย ๆ จาก 4 มม.ปรอท ทุก 1 นาที โดยไม่มีการปล่อยลมออกจนกระทั่ง 50 มม.ปรอท
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยที่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำมีจำนวนการขับถ่ายต่อสัปดาห์มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำเฉลี่ย 7 (4-14) vs 5(2-7) นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำมีลักษณะของอุจจาระที่เหลวมากกว่า พบว่ามีโรคประจำตัวคือลำไส้แปรปรวน ชนิดท้องเสีย และกลั้นอุจจาระไม่ได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ ผู้ป่วยที่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำจำนวน 8 ราย (57.14%) ไม่มีความรู้สึกปวดอยากถ่ายอุจจาระ แต่จะมีความรู้สึกต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีหลังจากที่รู้สึกว่ามีอุจจาระในไส้ตรงซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำซึ่งพบเพียง 2 ราย (14.25%) และ อาสาสมัครที่ไม่มีความผิดปกติในการขับถ่ายซึ่งพบเพียง 3 ราย(20%) ผู้ป่วยที่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำมีค่าความดันระะหว่างความรู้สึกปวดอยากถ่ายจนถึงภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำสั้นกว่าผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายแต่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ และอาสาสมัครที่ไม่มีความผิดปกติในการขับถ่าย ระดับการรับความรู้สึกของไส้ตรงและค่าความยืดหยุ่นของผนังไส้ตรงในผู้ป่วยที่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ และอาสาสมัครปกติ
สรุปผลการวิจัย: ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายร่วมกับมีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ พบว่ามีจำนวนการขับถ่ายต่อสัปดาห์มากกว่า มีลักษณะของอุจจาระที่เหลวมากกว่า พบโรคประจำตัวคือลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียมากกว่า พบภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการขับถ่ายแต่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ และที่สำคัญคือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายที่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ พบว่าผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกปวดอยากถ่ายอุจจาระ แต่จะมีความรู้สึกต้องรีบเร่งเข้าห้องน้ำทันทีหลังจากที่รู้สึกว่ามีอุจจาระในไส้ตรง และความดันระหว่างความรู้สึกปวดอยากถ่ายจนถึงภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำสั้นกว่าผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการขับถ่ายแต่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำ ในขณะที่อาสาสมัครที่ไม่มีความผิดปกติในการขับถ่ายและผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำจะมีค่าความดันของการปวดอยากถ่ายจนกระทั่งถึงภาวะรีบเร่งเข้าห้องน้ำมากกว่า สุดท้ายคือระดับความรู้สึกของไส้ตรงทั้งสามกลุ่มไม่แตกต่างกัน