Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยส่วนแรกเป็นการวิเคราะห์เอกสารจากบัญชีผู้ใช้อย่างเป็นทางการของตราสินค้าเครื่องสำอางไทยและต่างประเทศ บนช่องทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม จำนวน 373 ชิ้น เพื่อวิเคราะห์การสื่อสารการตลาดของตราสินค้าเครื่องสำอาง และการวิจัยเชิงสำรวจ เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 26-38 ปี จำนวน 400 คน เพื่อสำรวจ อธิบายความสัมพันธ์และความแตกต่างของลักษณะทางประชากร ทัศนคติ และความตั้งใจซื้อของผู้บริโภค
ผลการวิเคราะห์เอกสารพบว่า ตราสินค้าเครื่องสำอางไทยและต่างประเทศมีการสื่อสารการตลาดที่มีเนื้อหาเพื่อแจ้งให้ทราบมากที่สุด นิยมใช้โทนสีแบบสดใส ฉากประกอบแบบสตูดิโอ และบุคคลที่มีชื่อเสียงในลักษณะถ่ายแบบ ทั้งนี้พบว่าตราสินค้าไทยจะมีลักษณะการให้ข้อมูลที่ละเอียดมาก ในขณะที่ตราสินค้าต่างประเทศจะมีการให้ข้อมูลที่ละเอียดน้อย
ผลการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับของทัศนคติในด้านเนื้อหาเพื่อให้ความรู้ และการให้ข้อมูลที่ละเอียดมากมากที่สุด โดยผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์ และทัศนคติต่อตราสินค้าเครื่องสำอางไทยและต่างประเทศ มีความสัมพันธ์กับความตั้งใจซื้อ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อีกทั้งอายุและรายได้ ส่งผลต่อทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์ และเพศ อายุ และรายได้ ส่งผลต่อความตั้งใจซื้อ อีกทั้งทัศนคติต่อตราสินค้าเครื่องสำอางไทยและทัศนคติต่อตราสินค้าเครื่องสำอางต่างประเทศ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความชื่นชอบ ด้านความซื่อสัตย์ และด้านการรับรู้อำนาจ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05