Abstract:
สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง และส่งผลต่อสัดส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมีอัตราส่วนที่มากที่สุดเป็นอันดับที่สองของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยจังหวัดปทุมธานี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุดและเป็นพื้นที่ควบคุมโรคระบาดสูงสุดและเข้มงวด มีแหล่งงานสำคัญ คือ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยของผู้ค้าอาหารในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร รวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ค้าอาหารที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จำนวน 45 ตัวอย่าง โดยแบ่งตามลักษณะร้านค้าอาหารได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มA (ร้านแผงลอยอาหาร), กลุ่มB (ร้านอาหารใต้หอพักอาศัย)และกลุ่มC (ร้านอาหารอาคารพาณิชย์)
ผลการศึกษาพบว่า 1) เมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบกับรายได้ของผู้ค้าอาหารโดยเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 31.4 จากเดิมเฉลี่ยเดือนละ 42,356 บาท ลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 29,067 บาท และค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากเดิมเฉลี่ยเดือนละ 11,780 บาท เพิ่มขึ้นอยู่ที่เฉลี่ยเดือนละ 11,897 บาท เนื่องจากกลุ่ม A และกลุ่ม C มีผู้ที่เปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากเดิมเป็นห้องเช่า เปลี่ยนเป็นเช่าบ้านแถว เพื่อใช้พื้นที่หน้าบ้านทำเป็นร้านค้า 2) ลักษณะที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นแบบเช่า ร้อยละ 82 โดยกลุ่ม C มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 16,867 บาท เนื่องจากส่วนใหญ่เช่าอาคารพาณิชย์ อันดับที่สองคือกลุ่ม B เฉลี่ยเดือนละ 10,670 บาท ซึ่งมีการเช่าห้องพักและกลุ่ม A ที่มีด้านค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 8,154 บาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นห้องเช่า 3) ลักษณะการแก้ไขปัญหาของผู้ค้าอาหารส่วนใหญ่ ได้เข้ารับมาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือนร้อนด้านค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง 4) ความต้องการช่วยเหลือของผู้ค้าอาหารต่อภาครัฐ ส่วนใหญ่ต้องการการให้เงินเยียวยา ขยายเวลาการลดค่าเช่าหรือยกเว้นการผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัย ลดค่าสาธารณูปโภค อีกทั้งยังต้องการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยให้ควบคุมต้นทุนอาหารสดเพื่อนำมาค้าอาหาร
งานวิจัยนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงลักษณะความต้องการการช่วยเหลือของผู้ค้าอาหารในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานภาครัฐ ได้รับทราบข้อมูล ตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมด้านค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยต่อไป