Abstract:
ในขั้นตอนการเตรียมคลองรากฟัน เดบรีส ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อในที่อักเสบหรือตายแล้วเศษเนื้อฟัน และแบคทีเรีย รวมทั้งน้ำล้างคลองรากฟันอาจถูกดันออกนอกรูเปิดปลายรากฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน และมีผลให้เกิดการปวดและบวมภายหลังการรักษาคลองรากฟันได้ การศึกษาครั้งนี้มัวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบปริมาณเดบรีสและน้ำล้างคลองรากฟันที่ถูกดันออกนอกรูเปิดปลายรากฟัน ภายหลังการใช้วิธีการเตรียมคลองรากฟัน 3 วิธีในห้องทดลอง ฟันตัดหน้าล่างของมนุษย์ที่มีความโค้งของคลองรากฟันไม่เกิน 5 องศาจำนวน 90 ซี่ ถูกนำมาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 30 ซี่ กลุ่มที่ 1 เตรียมคลองรากฟันด้วยไฟล์ชนิดที่หมุนด้วยเครื่องเคทรี กลุ่มที่ 2 เตรียมคลองรากฟันด้วยไฟล์ชนิดที่หมุนด้วยเครื่องโพรไฟล์ และกลุ่มที่ 3 เตรียมคลองรากฟันด้วยเคไฟล์โดยวิธีคราวน์ดาวน์เพรสเชอร์เลส ภายหลังการเตรียมคลองรากฟันเสร็จสิ้นลงแล้ว ได้นำเดบรีสและน้ำล้างคลองรากฟันที่ถูกดันออกนอกรูเปิดปลายรากฟันจากการเตรียมคลองรากฟันแต่ละวิธีมาวัดปริมาณโดยการชั่งน้ำหนักและเปรียบเทียบค่าที่ได้โดยวิธีการทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่าปริมาณน้ำล้างคลองรากฟันที่ถูกดันออกนอกรูเปิดปลายรากฟันจากวิธีการเตรียมคลองรากฟันทั้ง 3 วิธี ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > .05) แต่ปริมาณเดบรีสมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) โดยพบว่าการเตรียมคลองรากฟันด้วยวิธีคราวดาวน์เพรสเชอร์เลส มีปริมาณเดบรีสถูกดันออกมาน้อยที่สุด