Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวาทกรรมการขอรับบริจาคเงินในสื่อสังคมของไทย ตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ โดยมีวัตถุประสงค์ การวิจัย 2 ประการ คือ เพื่อศึกษา 1) รูปแบบ โครงสร้าง และองค์ประกอบของวาทกรรมการขอรับบริจาคเงิน 2) ความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับอุดมการณ์เกี่ยวกับการบริจาคเงินในสังคมไทย ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยจากสื่อสังคมของไทย 3 กลุ่มข้อมูล ได้แก่ สื่อบุคคล คือ เฟซบุ๊กบิณฑ์ สื่อโครงการ คือ เฟซบุ๊กโครงการก้าว และสื่อมูลนิธิ คือ เว็บไซต์มูลนิธิ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 แนวทางการวิเคราะห์อาศัยกรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ของแฟร์คลัฟ (Fariclough, 1995; 2003) และของฟาน ไดก์ (Van Dijk, 2008) ผลการศึกษาพบว่า วาทกรรมการขอรับบริจาคเงินมิได้ทำหน้าที่เพื่อเชิญชวนการบริจาคเงินเท่านั้น แต่ยังสื่อความคิดว่าการบริจาคเงินเป็นวิธีที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในสังคมผ่านการประกอบสร้างของตัวบทซึ่งมีโครงสร้างแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนต้น ทำหน้าที่บอกประเด็นปัญหา ส่วนกลาง ทำหน้าที่ให้รายละเอียดข้อมูลปัญหาและวิธีการช่วยเหลือ และส่วนท้าย ทำหน้าที่โน้มน้าวใจให้บริจาคเงิน ตัวบทมีลักษณะความเป็นเรื่องเล่าที่นำมาจากเรื่องจริง มีการใช้ภาษาเพื่อเล่ารายละเอียด รายงานสถานการณ์ เร้าความรู้สึกให้ผู้รับสารตัดสินใจบริจาคเงิน อีกทั้งปริบทการสื่อสารมีส่วนสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมของการบริจาคเงิน ทำให้เห็นว่าสื่อกลางการขอรับบริจาคเงินแต่ละกลุ่มมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน สื่อบุคคลเน้นความน่าเชื่อถือของบิณฑ์ และปัญหาในระดับปัจเจกบุคคล ขณะที่สื่อโครงการเน้นความน่าเชื่อถือของตูนกับคณะผู้จัดทำโครงการ และปัญหาระดับหน่วยงาน ส่วนสื่อมูลนิธิเน้น ความน่าเชื่อถือขององค์กร และปัญหาต่าง ๆ ในสังคม นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับอุดมการณ์เกี่ยวกับการบริจาคเงินในสังคมไทย พบว่า วาทกรรมการขอรับบริจาคเงินได้ประกอบสร้างชุดความคิดที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) ชุดความคิดเกี่ยวกับผู้ขอรับบริจาคเงินว่าเป็นผู้มีปัญหาในชีวิตที่น่าเห็นใจ และเหมาะสมกับการได้รับความช่วยเหลือ 2) ชุดความคิดเกี่ยวกับผู้บริจาคเงินว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่พลเมือง และเป็นคนดีที่ทำความดีด้วยการบริจาคเงิน 3) ชุดความคิดเกี่ยวกับสื่อกลางการขอรับบริจาคเงินว่าเป็นผู้สร้างโอกาส ผู้เชี่ยวชาญและวีรบุรุษ รวมถึงยังเป็นผู้นำในการทำความดี และ4) ชุดความคิดเกี่ยวกับการบริจาคเงินว่าเป็นวิธีเดียวในการแก้ไขปัญหาที่สะดวก ง่าย และเหมาะสม การบริจาคเงินสามารถสร้างสถานะคนดีในสังคมและสร้างสังคมที่พึงประสงค์ได้ ชุดความคิดเหล่านี้ ถูกประกอบสร้างผ่านกลวิธีทางภาษา ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์หรือกลุ่มคำ การใช้ทัศนภาวะ การสื่อมูลบท การใช้ความเปรียบ การใช้อุปลักษณ์ การใช้
วัจนกรรม การใช้รูปประโยค การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ การใช้สำนวน การใช้คำขวัญ การใช้สหบท การอ้างถึง การขยายความ การเน้นความ การเล่าเรื่อง และการใช้ภาพประกอบ ยิ่งไปกว่านั้น ปริบททางสังคมวัฒนธรรม อาทิเช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทย กระแสสังคมเกี่ยวกับสื่อสังคมของไทย สถาบันครอบครัว สถาบันทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดการบริจาคเงิน ต่างมีอิทธิพลต่อวาทกรรม สร้างความเข้าใจว่า เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาในสังคม และการบริจาคเงินเป็นทางออกเพียงทางเดียวในการให้ความช่วยเหลือ สรุปได้ว่า ชุดความคิดที่ปรากฏผ่านกลวิธีทางภาษาสื่อสะท้อนว่าอุดมการณ์หลักในสังคม คือ ทุนนิยมที่มีอิทธิพลในการประกอบสร้างตัวบทโดยอาศัยแนวคิดการทำบุญทำทานเป็นเครื่องมือในการครอบงำความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของคนในสังคมให้เชื่อว่า เงินมีบทบาทสำคัญใน
การแก้ไขปัญหา การบริจาคเงินสามารถสร้างสถานะของคนดีและสังคมที่พึงประสงค์ นอกจากนี้วาทกรรมการขอรับบริจาคเงินยังแสดงให้เห็นความต่างสถานภาพของคนในสังคมที่แบ่งแยกได้ด้วยสถานะทางการเงิน แต่เชื่อมโยงเป็นสังคมเดียวกันได้ด้วยการบริจาคเงิน