Abstract:
ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆรวมถึงถ่านหินด้วย ถึงแม้ว่าการใช้ถ่านหินจะเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ ถ่านหินยังคงเป็นเชื้อเพลิงที่มีความพึ่งพาได้และราคาถูก ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งใช้เชื้อเพลิงเป็นถ่านหินนำเข้าปริมาณมาก เพื่อที่จะบริหารจัดการถ่านหินซับบิทูมินัสและบิทูมินัสนำเข้าปริมาณมากที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดความคุ้มค่าด้านการขนส่ง และภายใต้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดโครงการสร้างศูนย์กระจายถ่านหินขึ้น ที่ตั้งของศูนย์กระจายถ่านหินนั้นมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะต้องพิจารณาปัจจัยเช่น สภาพภูมิประเทศ ชุมชน การขนส่ง และเศรษฐศาสตร์ การศึกษานี้ได้ประยุกต์กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์แบบฟัซซี่ในการเลือกที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ทางเลือกที่ทั้งหมด จากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ และสังคมและชุมชนมากที่สุดตามลำดับ ภายหลังจากการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม ผลการศึกษาระบุว่าพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่เทพาเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตั้งศูนย์กระจายถ่านหินสำหรับภาคกลางและภาคใต้ตามลำดับ