Abstract:
ในการก่อสร้างและดำเนินการของโครงการศูนย์กระจายถ่านหินในประเทศไทยจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนโดยรอบด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ในงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหามูลค่า ค่าชดเชยที่เหมาะสมหรือเป็นธรรมระหว่างเจ้าของโครงการกับชุมชนโดยรอบ โดยใช้เทคนิคการเสวนา (Forum) ซึ่งจะใช้ข้อมูลจาก มูลค่าความเสียหาย (Damage Cost) และมูลค่าที่ชุมชนคาดหวัง (Social Cost)
มูลค่าความเสียหาย (Damage Cost) จากการศึกษาและทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่าโครงการศูนย์กระจายถ่านหินจะก่อให้ผลกระทบ คือมลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จะใช้เทคนิคทางการระบาดวิทยาเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis) ร่วมกับเทคนิคการแปลงมูลค่า (Benefit Transfer Method) เพื่อหามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับมูลค่าที่ชุมชนคาดหวัง (Social cost) หามาจากการใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะใช้เทคนิคการสมมติเหตุการณ์ (Contingent Valuation Method) เพื่อหามูลค่าความเต็มใจยอมรับค่าชดเชย (Willingness to Accept) แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อมูลค่าความเต็มใจยอมรับค่าชดเชยด้วยการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุ (Multiple Regression Analysis) เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Model) สำหรับประเมินมูลค่าที่ชุมชนคาดหวัง
จากผลการศึกษาพบว่า โครงการก่อให้เกิดผลกระทบด้านเสียง จากการขนส่งวัสดุในระยะก่อสร้าง และการฟุ้งระจายของฝุ่นในระยะดำเนินดำเนินการ พบว่ามีค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 157,251,324 บาทต่อปี และจากแบบสอบถาม จำนวน 400 ตัวอย่างพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อมูลค่าความเต็มใจยอมรับค่าชดเชย คือ ปัจจัยคะแนนผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ระยะทาง, ความถี่ของการเกิดโรค และระยะเวลาที่พักอาศัย โดยมูลค่าที่ประชาชนคาดหวัง(Social Cost) ที่ได้จากการคำนวณคือ 203,318,921 บาทต่อปี เมื่อนำข้อมูลที่ได้ไปจัดเสวนา พบว่าค่าชดเชยมีมูลค่า 223,664,529 บาทต่อปี