Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประส่งค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับสารตกค้างจากยากลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ไอบูโพรเฟน (IBP) ในนำ้เสียสังเคราะห์ โดยตัวกลางดูดซับโครงข่ายโลหะอินทรีย์ MIL-53(Al) และ MIL-53(Al) ที่เคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาที่สัดส่วนต่างๆ นอกจากนี้ยังศึกษาเสถียรภาพของ MIL-53(Al) ในนำ้เสียสังเคราะห์ทั้งก่อนและหลังการเคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกา รวมถึงการศึกษาการนำตัวกลางดูดซับกลับมาใช้ใหม่ภายหลังจากฟื้นสภาพตัวกลางดูดซับด้วยเมธานอล จากผลการทดลองกระบวนการดูดซับภายใต้ระบบทีละเท พบว่า MIL-53(Al) มีอัตราเร็วในการดูดซับไอบูโพรเฟนสูงกว่าถ่านกัมมันต์ชนิดผง (PAC) โดยเข้าสู่สมดุลภายใน 75 นาที และเมื่อทำการเคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาที่สัดส่วนต่างๆ พบว่าอัตราเร็วในการดูดซับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่สมดุลภายใน 25 และจลนพลศาสตร์การดูดซับของตัวกลางดูดซับทั้งหมดสอดคล้องกับจลนพลศาตร์การดูดซับเสมือนลำดับที่ 2 ในขณะที่ตัวกลางดูดซับเมโสพอรัสซิลิกาเพียงอย่างเดียวไม่พบการดูดซับ โดย MIL-53(Al) มีความสามารถในการดูดซับสูงสุด เมื่อเคลือบเมโสพอรัสซิลิกาที่สัดส่วนโดยโมลของ MIL-53(Al) ต่อเตตระเอธิลออร์โธซิลิเกต (TEOS) เท่ากับ 1:0.48 มีความสามารถในการดูดซับไอบูโพรเฟนสูงกว่าสัดส่วนอื่นๆ และไอโซเทอมการดูดซับสอดคล้องกับแบบจำลองของเรดลิช-ปีเตอร์สัน ถึงแม้ว่าการเคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาจะมีประสิทธิภาพในการดูดซับลดลง แต่ยังมีความสามารถในการดูดซับใกล้เคียงกับ PAC จากการศึกษาเสถียรภาพพบว่า MIL-53(Al) ที่เคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกามีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นและมีการชะละลายของสารอินทรีย์และโลหะน้อยลง นอกจากนี้ MIL-53(Al) ที่เคลือบชั้นเมโสพอรัสซิลิกาสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 2 ครั้งหลังจากสกัดด้วยเมทานอล ในขณะที่ MIL-53(Al) ไม่สามารถในการดูดซับไอบูโพรเฟนได้อีกเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งที่ 2 เนื่องจากการพังทลายของโครงสร้าง