Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเทปพีวีซีสำหรับลดสัดส่วนของเสียประเภทแกนเทปปูดที่มีความสูงเกินค่ามาตรฐานควบคุมที่ 2 มิลลิเมตร โดยนำหลักการและแนวคิดของซิกซ์ ซิกมามาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการภายใต้ 5 ขั้นตอน (DMAIC) เริ่มจากขั้นตอนการนิยามปัญหา โดยทำการศึกษากระบวนการผลิตเพื่อระบุหัวข้อปัญหา กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ถัดมาเป็นระยะการวัดเพื่อหาสาเหตุของปัญหา ในการวิเคราะห์ระบบการวัดเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความถูกต้องแม่นยำในระบบการวัดนี้ รวมถึงมีการระดมสมองจากทีมงานผู้ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาด้วยแผนภาพแสดงสาเหตุและผล และใช้ FMEA ในการจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาแกนเทปปูด จากนั้นคัดเลือกปัจจัยมาดำเนินการในขั้นตอนการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา โดยทำการออกแบบการทดลองแบบ Face-Center Composite Design (CCF) เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยนำเข้าที่ส่งผลต่อการปูดของแกนเทปอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการปรัปบปรุงโดยจะนำปัจจัยที่ได้ มาปรับหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม แล้วนำมาทำการทดสอบเพื่อยืนยันผลในขั้นตอนการควบคุม ทำการกำหนดและติดตามแผนการควบคุมปัจจัยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป โดยผลหลังจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตเทป จะได้ว่ามีสี่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปูดของแกนเทป ได้แก่ 1.การปรับความหนาของกาวที่ 20 um และ 2.การปรับแรงดัน Nip-pressure ที่ 1 บาร์ นอกจากนี้ในกระบวนการวิเคราะห์ ยังสามารถระบุปัจจัยที่สามารถยับยั้งการปูดของแกนเทปได้โดยการ 3.ปรับอุณหภูมิและ 4.เวลาในขั้นตอนการอบ log roll ที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
ภายหลังจากการตั้งค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมของปัจจัยต่างๆ พบว่าความสูงของแกนเทปปูดเฉลี่ยถูกลดระดับลงและอยู่ในค่ามาตรฐานการส่งมอบให้ลูกค้า สามารถลดสัดส่วนของเสียของการเกิดแกนเทปปูดลงได้ จาก 40% เป็น 0% ของของเสียในปัจจุบัน ซึ่งให้ผลลัพธ์มากกว่าผลผลิตที่คาดหวัง นอกจากนี้ความสามารถของกระบวนการยังได้รับการปรับปรุงจาก Cp ที่ 1.15 เป็น 2.14 และ Cpk ที่ 0.14 เป็น 1.35 ซึ่งผ่านเกณฑ์การยอมรับที่ 1.33 ของโรงงาน