Abstract:
สาเหตุหนึ่งของปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ เกิดจากการวางแผนเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้โดยง่าย ส่งผลให้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม จากเหตุผลดังกล่าว ดัชนีการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาระบบจราจรและการขนส่ง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ดัชนีการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับพื้นที่กรุงเทพเขตชั้นใน ในบริบทของการเดินทางจากจุดศูนย์กลางของแขวงหนึ่งไปยังจุดศูนย์กลางของอีกแขวงหนึ่ง ปัจจัยที่ใช้ประกอบการคำนวณดัชนีการเข้าถึง ได้แก่ เวลาในการเดินทางทั้งหมด มูลค่าเวลา และปริมาณการเดินทาง เพื่อให้ทราบถึงสภาพการเดินทางในปัจจุบัน และนำเสนอแผนที่สีที่แสดงความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่าบริเวณที่มีดัชนีการเข้าถึงสูง กระจุกตัวอยู่บริเวณเขตพระนครและใจกลางเมือง และมีแนวโน้มลดลงเมื่อห่างออกจากบริเวณดังกล่าว โดยดัชนีการเข้าถึงมีค่าอยู่ในช่วง 0.54 ถึง 4.12 และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.57 โดยแขวงที่มีดัชนีการเข้าถึงมากที่สุดคือแขวงวังใหม่ และแขวงบางขุนนนท์มีดัชนีการเข้าถึงต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบดัชนีการเข้าถึงในปัจจุบัน กับดัชนีการเข้าถึงเมื่อเปลี่ยนจากการเดินเท้าเข้าสู่สถานีขนส่งสาธารณะเป็นการเดินทางรูปแบบอื่น พบว่าการเข้าสู่สถานีขนส่งด้วยรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้ดัชนีการเข้าถึงลดลง ในขณะที่การเข้าสู่สถานีขนส่งด้วยจักรยานและการปรับปรุงคุณภาพทางเท้าให้ประชาชนสามารถเดินเท้าได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ดัชนีการเข้าถึงเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาพบว่า การปรับปรุงความสามารถในการเข้าถึงโดยการใช้รถจักรยานยนต์เข้าสู่สถานีขนส่งเป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ และควรส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อเชื่อมต่อสถานีขนส่งและการปรับปรุงคุณภาพทางเท้า