Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ และแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้หลักการ POLC ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) แบบเผชิญหน้ากับผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 10 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน และผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอเสนาค่อนข้างมีความสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการแบบ POLC ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน กล่าวคือศูนย์ดังกล่าวได้มีการวางมาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการปราบปราม ด้านการป้องกัน และด้านการบำบัดรักษา เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การเตรียมการ การปฏิบัติ และการส่งต่อความยั่งยืน ทั้งนี้การศึกษาครั้งนี้พบว่าบทบาทภาวะผู้นำถือเป็นส่วนสำคัญในการประสานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการปฏิบัติ การกำหนดเป้าหมาย การกำหนดวัตถุประสงค์ การกำหนดโครงสร้าง การมอบหมายภารกิจหน้าที่ และการลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการควบคุมการปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามศูนย์ดังกล่าวยังขาดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายนอกอย่างยั่งยืน ได้แก่ สถาบันการศึกษา กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ อีกทั้งยังขาดการกระตุ้นสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนแนวโน้มการควบคุมการปฏิบัติในระยะยาวมีความเข้มข้นลดลง ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งของผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว