Abstract:
ที่มาของการวิจัย: ยาโคลิสตินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบดื้อยา จากการศึกษาในผู้ใหญ่แนะนำให้ยาครั้งแรกในขนาดสูง (loading dose) แต่ในผู้ป่วยเด็กนั้นยังไม่มีการศึกษา วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อศึกษาพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาโคลิสตินที่ให้ทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยเด็ก วิธีการวิจัย: การศึกษาเภสัชจลนศาสตร์แบบไปข้างหน้าในผู้ป่วยเด็กอายุ 2-18 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีสุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับยา colistin loading dose 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กลุ่มที่ 2 ไม่ได้รับยา loading dose ทั้งสองกลุ่มได้ยา maintenance dose ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันแบ่งให้ทุก 8-12 ชั่วโมง จากนั้นเจาะเลือดตรวจวัดระดับยาโคลิสตินเป็นระยะด้วยวิธี liquid chromatography-mass spectrometry เมื่อได้ค่าระดับยาจึงนำมาคำนวณพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ ได้แก่ ค่าความเข้มข้นสูงสุดในพลาสมา (Cmax) พื้นที่ใต้กราฟความเข้นข้นของยาในพลาสมา (AUC) ค่าการกระจายตัวของยา (Vd) ค่า Cmax/MIC ที่มากกว่า 10 เท่าถูกใช้เป็นเป้าหมายสำหรับ PK/PD index ผลการศึกษา: มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ 20 ราย อายุและน้ำหนักแสดงในรูปแบบ median (IQR) เท่ากับ 8.5 (3.5-11.3) ปี และ 21.5 (13.5-20.0) กิโลกรัม ค่าพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์แสดงในรูปของ mean±SD ของอาสาสมัครกลุ่มที่ 1 และ 2 ได้แก่ Cmax 6.1±2.4, 4.1±1.3 มคก./มล. AUC0-∞ 29.5±13.7, 14.9±4.3 มคก./มล.*ชม. Vd 0.7±0.4, 0.6±0.3 ล./กก. อาสาสมัครกลุ่มที่ 1 ร้อยละ 70 และอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 ร้อยละ 30 มีค่า Cmax/MIC มากกว่า 10 เท่าเมื่อค่า MIC น้อยกว่า 0.5 มคก./มล. สรุป: การให้ยาโคลิสตินแบบมี loading dose ทำให้ค่า Cmax สูงกว่าและทำให้อาสาสมัครถึงเป้าหมาย PK/PD index ได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ loading dose ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาสำเร็จโดยเฉพาะการรักษาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ต้องการระดับยาที่สูงตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกของการรักษา