Abstract:
ประโยคกรรมวาจกในภาษาไทยสามารถแสดงนัยยะเชิงบวกหรือเชิงลบที่ผู้ส่งสารมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ภาษาสเปนไม่สามารถทำได้ อีกทั้งภาษาสเปนยังมีโครงสร้างที่ไม่ปรากฏในภาษาไทย ได้แก่ ประโยคกรรมวาจกประเภท pasiva refleja การศึกษาการแปลประโยคกรรมวาจกโดยไม่เปลี่ยนแปลงความหมายของต้นฉบับจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการแปลประโยคกรรมวาจกจากภาษาสเปนเป็นภาษาไทย โดยได้ทำการวิเคราะห์บทแปลข่าวจากภาษาสเปนเป็นภาษาไทยที่แปลโดยสำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 198 ข่าว จากผลการวิเคราะห์การแปลประโยคประเภท pasiva perifrástica จำนวน 161 ประโยคและการแปลประโยคประเภท pasiva refleja จำนวน 213 ประโยค พบว่ากลวิธีที่ใช้ในการแปลประโยคประเภท pasiva perifrástica มากที่สุดคือกลวิธีการแปลด้วยประโยคกรรมวาจกที่ปรากฏตัวบ่งชี้ ถูก และกลวิธีที่ใช้ในการแปลประโยคประเภท pasiva refleja มากที่สุดคือกลวิธีการเติมประธานด้วยการตีความจากบริบท ในแง่ของปัจจัยในการเลือกใช้กลวิธี พบว่าความใกล้เคียงกับโครงสร้างประโยคต้นฉบับเป็นปัจจัยหลักในการเลือกกลวิธีในการแปล ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่การยึดติดกับขนบการแปลดั้งเดิมของผู้แปลและความหมายเชิงบวก เชิงลบ หรือเป็นกลางของประโยคที่แปล