Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษา (1) วัตถุประสงค์การใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมในไทย ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม (2) แฮชแท็กในโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม และ (3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน จากการสำรวจด้วยแบบสอบถามผู้ใช้แฮชแท็กจำนวน 423 คน วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า ผู้ใช้แฮชแท็กส่วนใหญ่ใช้มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม โดยใช้แฮชแท็กในทวิตเตอร์มากที่สุด รองลงมา คือ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม วัตถุประสงค์การใช้แฮชแท็กมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้โซเชียลมีเดีย คือ การตอบสนองด้านข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งวัตถุประสงค์การใช้แฮชแท็กยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทั้งสิ้น 10 ด้าน ได้แก่ การค้นหาและติดตามข้อมูล สนับสนุนบุคคลที่ชื่นชอบ การจัดการข้อมูล การกระจายเนื้อหาและเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ประโยชน์ทางธุรกิจและการซื้อขายสินค้า ความสนุกสนานและตลกขบขัน การแสดงความคิดเห็น การสร้างความสัมพันธ์ การนำเสนอตนเอง สื่อความหมายและทดแทนอวัจนภาษา ซึ่งผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่มจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละประเด็น ด้านความแตกต่างระหว่างแพลตฟอร์ม การใช้แฮชแท็กในทวิตเตอร์จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและความสนใจส่วนบุคคล ขณะที่การใช้แฮชแท็กในอินสตาแกรมเป็นข้อมูลที่เน้นตนเองเป็นหลัก ส่วนเฟซบุ๊กเป็นการใช้แฮชแท็กในเชิงข้อมูลเกี่ยวกับคนรู้จักและการเน้นข้อความ นอกจากนี้พบว่าผู้ใช้แฮชแท็กตัดสินใจเลือกใช้แฮชแท็กจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง สังคม ลักษณะแฮชแท็ก และการรองรับของแพลตฟอร์ม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าแฮชแท็กจะถือกำเนิดจากการจัดระเบียบข้อมูล แต่ผลการศึกษาพบว่าการใช้แฮชแท็กสามารถตอบสนองการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายตามทฤษฎีการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการใช้เครื่องมือสื่อสาร เพื่อตอบสนองความต้องการของตนในแต่ละด้าน