Abstract:
งานวิจัยเรื่อง “การต่อรองอัตลักษณ์มุสลิมในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ของยาสมิน อะห์หมัด” เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังและแรงบันดาลใจที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ของยาสมิน อะห์หมัด และศึกษาการต่อรองอัตลักษณ์มุสลิมในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซียผ่านภาพยนตร์ของยาสมิน อะห์หมัด โดยวิเคราะห์บริบทของภาพยนตร์ จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ Rabun (2003) Sepet (2004) Gubra (2006) Mukhsin (2007) Muallaf (2008) และ Talentime (2009) ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลใกล้ชิด นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์มาเลเซีย รวมทั้งศึกษาเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยพบว่า ภูมิหลังและแรงบันดาลใจที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของยาสมิน อะห์หมัด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) การเลี้ยงดูฟูมฟักจากครอบครัว 2) การศึกษาหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ และ 3) สุนทรียภาพจากประสบการณ์ตรงและคนใกล้ชิด
ส่วนการต่อรองอัตลักษณ์มุสลิมในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ของยาสมิน อะห์หมัด มี 3 คุณลักษณะ คือ 1) อัตลักษณ์มุสลิมที่สังคมคาดหวัง 2) อัตลักษณ์มุสลิมที่สังคมไม่พึงประสงค์ และ 3) อัตลักษณ์มุสลิมที่ประกอบสร้างขึ้นใหม่ โดยปรากฏใน 2 รูปแบบ คือ 1) การต่อรองกับมนุษย์ ได้แก่ การยืดหยุ่นต่อขนบธรรมเนียม วิถีปฏิบัติ และจารีตที่สังคมคาดหวัง ซึ่งมักปรากฏในเชิงกายภาพ และ 2) การต่อรองกับพระเจ้า ได้แก่ การกระทำสิ่งซึ่งขัดแย้ง หรือหมิ่นเหม่ต่อหลักการศาสนา โดยต่อรองกับหลักการและเงื่อนไขศาสนาภายใต้กรอบศีลธรรม มนุษยธรรม และการเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันในชีวิต ซึ่งชี้ให้เห็นความหลากหลายของมุสลิมในด้านวิถีปฏิบัติที่มิได้มีเฉพาะด้านดีหรือชั่วเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานตัวตนเข้ากับเบ้าหลอมทางศาสนา ตำแหน่งแห่งที่ บทบาททางสังคมอันเชื่อมโยงกับกระแสโลกสมัยใหม่และการแลกรับวัฒนธรรมอื่นรอบตัว อัตลักษณ์มุสลิมที่ปรากฏจึงลื่นไหล แปรเปลี่ยน และถูกปรับปรุงเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ในชีวิต