Abstract:
การศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบ non-concurrent controlled intervention study มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการฝึกสติบำบัด (MBTC : Mindfulness – Based Therapy and Counseling program : MBTC) ร่วมกับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูด้วยโปรแกรม FAST model เปรียบเทียบกับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูด้วยโปรแกรม FAST model ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่อการกลับมาเสพสารเมทแอมเฟตามีนซ้ำ ผู้ติดสารเมทแอมเฟตามีนที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูจำนวนทั้งสิ้น 70 คน ที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์คัดเข้าและคัดออกถูกแบ่งเป็นกลุ่มควบคุม (กลุ่มที่ได้รับการบำบัดตามกระบวนการบำบัดของโปรแกรม FAST Model) และกลุ่มทดลอง (กลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยโปรแกรม MBTC ร่วมกับกระบวนการบำบัดของโปรแกรม FAST Model) กลุ่มละ 35 คน กลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกสติเป็นเวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละประมาณ 1 ชั่วโมง และทั้งสองกลุ่มจะถูกติดตามหลังจำหน่ายกลับบ้านเป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Generalized mixed model พบว่า เมื่อติดตามผลเป็นระยะเวลา 6 เดือนหลังจำหน่ายกลับบ้าน กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความอยากเสพลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (7.89 คะแนน, 95%CI = -15.47, -0.32) และพบว่ากลุ่มทดลองมีสัดส่วนของผู้ที่ตรวจพบสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ (5/35 คน) น้อยกว่าสัดส่วนของกลุ่มควบคุม (16/35 คน) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (chi-square test; p-value = 0.004) และยังพบว่ากลุ่มทดลองมีความเครียด (7.44 คะแนน, 95%CI = -12.21, -2.67) ความซึมเศร้า (2.96 คะแนน, 95%CI = -5.31, -0.6) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ในขณะที่มีสติมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (12.86 คะแนน, 95%CI = 9.37, 16.35)
จากผลการศึกษาที่ได้นี้สามารถสรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้ว่าการใช้โปรแกรม MBTC ร่วมกับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูด้วยโปรแกรม FAST model และทำการติดตามผลการบำบัดเป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถช่วยลดการกลับมาเสพซ้ำในกลุ่มผู้ที่เสพสารเมทแอมเฟตามีนได้ดีกว่าการใช้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูด้วยโปรแกรม FAST model เพียงอย่างเดียว