Abstract:
ที่มาของงานวิจัย ภาวะไตวายเฉียบพลัน (AKI) และภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARF) เป็นสองภาวะที่พบได้บ่อยและส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยวิกฤต จุดมุ่งหมายของงานวิจัยคือการรายงานอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ของทั้งสองภาวะนี้ในรูปแบบต่าง ๆ
ระเบียบวิธีการวิจัย ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลผู้ป่วยจากการศึกษา SEA-AKI ซึ่งเป็นการศึกษานานาชาติที่เก็บข้อมูลของหอผู้ป่วยวิกฤตจากประเทศ ไทย ลาว และ อินโดนีเซีย และได้ทำการให้คำนิยามภาวะไตวายเฉียบพลัน ตามคำนิยามมาตรฐาน KDIGO ขั้นที่ 2-3 และให้คำนิยามภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันโดยการดูการใช้เครื่องช่วยหายใจ จากนั้นแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็นทั้งหมด 6 กลุ่ม ตามลำดับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันดังนี้ “no AKI/ARF”, “ARF alone”, “AKI alone”, “ARF first”, “AKI first”, “Concurrent AKI-ARF” และมีผลลัพธ์ปฐมภูมิของการวิจัยคืออัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล
ผลการศึกษา การศึกษาวิจัยได้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยมาทั้งหมด 5,468 ราย โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลขของกลุ่ม "Concurrent AKI-ARF" สูงที่สุดที่ 69.6% ในขณะที่ "AKI first" 54.4%, "ARF first" 53% , "AKI alone" 14.6%, "ARF alone" 31.5% และในกลุ่ม "no AKI/ARF" 12.4%
สรุป ผู้ป่วยวิกฤตที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันและภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันร่วมกันจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตในโรงพยาบาลสูงขึ้น