Abstract:
ข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ สามารถกระจายเนื้อหาออกสู่สาธารณะได้อย่างรวดเร็ว เพราะสื่อออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อแสดงความคิดเห็น และส่งต่อข้อมูลระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้รัฐต่าง ๆ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลรวมถึงสร้างมาตรการทางกฎหมายเพื่อใช้ในการจัดการกับข่าวปลอม สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐมีกฎหมายที่ใช้ในการจัดการกับข่าวปลอม แต่จากข้อเท็จจริง พบว่า การกำกับดูแลข่าวปลอมของประเทศไทยยังเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกินสมควร วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาถึงปัญหาของมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการจัดการกับข่าวปลอมบนสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาขอบเขตของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและความจำเป็นในการมีกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมในประเทศไทย
จากการศึกษา พบว่า มาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการจัดการข่าวปลอมบนสื่อออนไลน์ มีปัญหาในเรื่อง ความไม่ชัดเจนของถ้อยคำตามตัวบทกฎหมาย องค์กรที่ใช้ในการตรวจสอบข่าวปลอม การตรวจสอบการดำเนินคดีข่าวปลอมและสภาพบังคับทางกฎหมายที่ใช้ในการจัดการข่าวปลอมซึ่งส่งผลเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกินสมควร จึงได้ทำการวิเคราะห์ถึงการกำหนดนิยาม ความมีประสิทธิภาพขององค์กรที่ใช้ในการตรวจสอบและการตรวจสอบการดำเนินคดีข่าวปลอม รวมถึงสภาพบังคับทางกฎหมายที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสำคัญ
ดังนั้น จึงได้เสนอแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการกับข่าวปลอมในประเทศไทยว่า รัฐควรมีการกำหนดนิยามของข่าวปลอมให้มีความชัดเจนและควรต้องกำหนดสภาพบังคับทางกฎหมายในรูปแบบอื่นที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มีโทษน้อยกว่าสภาพบังคับทางอาญา รวมทั้งควรมีมาตรการทางนโยบายในการกำกับดูแลองค์กรที่ใช้ในการจัดการข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตน จะไม่ถูกจำกัดโดยรัฐโดยปราศจากความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน