Abstract:
ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง “เสียงแห่งพิษณุโลกสำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา” เป็นบทประพันธ์เพลงร่วมสมัยในลักษณะของดนตรีพรรณนา ที่ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทบาทของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลก รวมถึงภาพบรรยายถึงวิถีการดำรงชีวิต เสมือนภาพสะท้อนแห่งนวัตวิถีของชุมชนชาวพิษณุโลกตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบทประพันธ์ที่ได้แรงบันดาลใจและสื่อให้จินตนาการถึงสถานที่ต่าง ๆ วิถีชีวิตของชาวจังหวัดพิษณุโลก บทเพลงเสียงแห่งพิษณุโลกสำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา มีความยาวประมาณ 30 นาที แบ่งออกเป็น 5 ท่อน ได้แก่ วัดใหญ่ พระราชวังจันทน์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก๋วยเตี๋ยวห้อยขา สามล้อถีบ และเรือนแพโดยใช้ทำนองหลักของแต่ละท่อนเพลงแตกต่างกันไปตามสถานที่และการเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตบทเพลงประพันธ์ขึ้นภายใต้ระบบอิงกุญแจเสียงที่เน้นกลุ่มโน้ตเพนตาโทนิก เพื่อสื่อถึงความเป็นท้องถิ่นที่มีลีลาสำเนียงแบบดนตรีตะวันออก มีการนำเสนอเทคนิคการประพันธ์เพลง อัตราจังหวะ รูปแบบจังหวะ รวมทั้งมีการแปรทำนองที่หลากหลายแต่ยังคงไว้ซึ่งเสียงทำนองหลัก ช่วงท้ายของบทเพลง ผู้ประพันธ์ได้นำ “ระนาดเอก” มาผสมผสานเพื่อสร้างสีสันให้แก่วงออร์เคสตรา เพื่อสื่อถึงความเป็นบทเพลงร่วมสมัยไทยซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนความคิดสำคัญของบทประพันธ์ “เสียงแห่งพิษณุโลกสำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา” นี้