Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายและข้อจำกัดในการเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนผ่านภาพยนตร์ ศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของการดำเนินนโยบายเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนผ่านภาพยนตร์ และศึกษาผลกระทบต่อภาพลักษณ์จีนในเวทีระหว่างประเทศต่อการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพลักษณ์ทางสังคมจีน ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบวิจัยเชิงเอกสารเป็นหลัก โดยเน้นนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน และผลงานภาพยนตร์ของ เจีย จางเค่อ 3 เรื่อง ได้แก่ Still Life (2006), 24 City (2008) และ A Touch of Sin (2013) มาประกอบการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า บทบาทภาพยนตร์อาจเป็นเครื่องมือของรัฐในการทำหน้าที่ในแง่ของ Soft Power ที่รัฐพยายามพัฒนาภาพลักษณ์ของชาติ แต่ผลลัพธ์จากการที่จีนพยายามทุ่มเทกับการใช้ทรัพยากรดังกล่าวไม่สามารถทำให้ประเทศในเวทีระหว่างประเทศคล้อยตามได้เสมอไป เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือในการส่งเสริมภาพลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของประเทศให้ดีขึ้น (เพื่อจุดประสงค์การเพิ่ม Soft Power) ดังนั้นการผลิตหรือส่งออกภาพยนตร์ที่มากขึ้นไม่ได้หมายถึงการเพิ่ม Soft Power เสมอไป ซึ่งเจียได้แสดงให้เห็นว่าบทบาทของภาพยนตร์เป็นได้มากกว่าแค่เครื่องมือของรัฐเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและการสร้างอำนาจให้กับรัฐ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่น่าดึงดูดอาจสวนทางกับภาพลักษณ์ที่ดีที่รัฐพยายามส่งเสริม หรือสิ่งที่น่าดึงดูดกลับกลายมาจากภาพยนตร์ไม่ใช่เพราะแรงดึงดูดจากประเทศนั้น