Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามวิจัยที่ว่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชนไทดำบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ด้วยแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-Structured Interview) จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ OTOP นวัตวิถีในพื้นที่หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จำนวนรวม 8 คน งานวิจัยพบว่า ชาวไทดำมีการบริหารจัดการทางวัฒนธรรมอยู่แล้วก่อนการเข้ามาของโครงการ OTOP นวัตวิถี เช่น การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่ม การทำที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในลักษณะโฮมสเตย์ เป็นต้น ดังนั้นโครงการ OTOP นวัตวิถีจึงส่งผลให้มีการเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น เพิ่มรายได้ ด้านผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมการดำเนินโครงการ OTOP นวัตวิถีทำให้เกิดการส่งเสริมทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรทางเศรษฐกิจใหม่ภายในชุมชนไทดำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลักษณะของการให้วัตถุดิบในการผลิต และการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งทางสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้จากการทำการเกษตร ส่งผลให้โครงสร้างของการบริหารจัดการที่เป็นระเบียบมากขึ้น มีการพัฒนาเกี่ยวกับการให้บริการนักท่องเที่ยว การแสดง การบริการอาหารและที่พัก เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน การมีผลประโยชน์เข้ามาในชุมชนก็ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น เกิดความขัดแย้งจากการกระจายผลประโยชน์ไม่ทั่วถึงในชุมชน ทำให้เกิดผลกระทบทางลบด้านสังคมขึ้นภายในชุมชน สำหรับผลกระทบด้านวัฒนธรรม งานวิจัยพบว่าชาวไทดำส่วนใหญ่เห็นว่า OTOP นวัตวิถีได้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวัฒนธรรมไทดำในแง่ที่ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นว่า OTOP นวัตวิถีมีผลกระทบทางลบในแง่การนำสินค้าที่ผลิตจากภายนอกมาสร้างแบรนด์ไทดำทั้งที่ไม่ได้มีเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์หรือวิถีชีวิตของชาวไทดำ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามามากขึ้น