Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงหลักนิยมและแนวทางการต่อสู้คอมมิวนิสต์ที่กองทัพไทยได้กำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางการเอาชนะสงครามประชาชน สารนิพนธ์นี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งได้ใช้กรอบแนวคิดการเรียนรู้เชิงนโยบายความมั่นคง มีจุดยืนว่าการเปลี่ยนแปลงหลักนิยมและแนวทางการต่อต้านการก่อความไม่สงบของไทยมีการเรียนรู้เป็นสองชั้น คือ การเรียนรู้ระดับบุคคลและการเรียนรู้ระดับองค์กร ชั้นที่หนึ่งคือประสบการณ์ส่วนบุคคลของนายทหารไทยกลุ่มหนึ่งที่เคยเข้าร่วมสงครามลับในลาวเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่สุดจากประสบการณ์ในสงครามคือการตระหนักถึงข้อจำกัดพื้นฐานและความไม่มีประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ตั้งแนวป้องกันนอกประเทศของสหรัฐอเมริกา และการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่เน้นการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงตามแบบอย่างปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามซึ่งรัฐบาลทหารไทยสมัยนั้นได้นำมาใช้เป็นหลักนิยมความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ในระดับบุคคลถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนสำคัญยิ่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น หลังจากสงครามลับในลาวสิ้นสุดลง นายทหารกลุ่มหนึ่งได้กลับมายังประเทศไทยและได้รับมอบภารกิจการต่อสู้คอมมิวนิสต์ นายทหารกลุ่มนั้นนำโดยพลเอกสายหยุด เกิดผล ได้ปรับเปลี่ยนหลักนิยมและแนวทางการต่อต้านการก่อความไม่สงบขึ้นใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการเอาชนะจิตใจประชาชนและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองโดยใช้มาตรการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง ขยายบทบาทงานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ก่อความไม่สงบที่ยอมมอบตัวให้เข้าร่วมเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ชั้นที่สองคือการเรียนรู้ระดับองค์กรที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลักนิยม เกิดจากปัจจัยสำคัญยิ่งคือการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมากว่าสิบห้าปี ได้สร้างโอกาสสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเปิดโอกาสให้เกิดการปรับหลักนิยมความมั่นคงของชาติ เป็นช่วงเวลาที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ซึ่งให้การสนับสนุนและมีบทบาทหลักต่อการใช้หลักนิยมใหม่ ได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรี การยกระดับไปสู่หลักนิยมใหม่นี้เกิดขึ้นภายใต้การนำของเขา