Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาการกำจัดสารพีวีเอในน้ำเสียพีวีเอสังเคราะห์และน้ำเสียกระบวนการลอกแป้งด้วยกระบวนการโคแอกกูเลชันและกระบวนการอัลตราฟิลเตรชัน จากการศึกษากระบวนการโคแอกกูเลชันพบว่าสารสร้างตะกอน MgCl2 500 mg/L ที่ความเข้มข้นสารโพลิเมอร์ชนิดไม่มีประจุ (Poly ethylene oxide) 0.1 mg/L ที่ค่าพีเอช 8 มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารพีวีเอมากที่สุด เท่ากับ 21.90% และมีประสิทธิภาพการกำจัดความขุ่น และค่าซีโอดี เท่ากับ 12.5% และ 36.59% ตามลำดับ สำหรับน้ำเสียพีวีเอสังเคราะห์ 10.5 g/L และเมื่อศึกษาน้ำเสียกระบวนการลอกแป้งพบว่าปริมาณสารสร้างตะกอน MgCl2 ที่เหมาะสมเท่ากับ 1,000 mg/L มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารพีวีเอเท่ากับ 14.83% และมีประสิทธิภาพในการกำจัดความขุ่น และค่าซีโอดีเท่ากับ 86.60% และ 8.99% ตามลำดับ
กระบวนการโคแอกกูเลชันจึงเป็นเพียงการบำบัดขั้นต้นเพื่อลดความขุ่นก่อนเข้าสู่ระบบอัลตราฟิลเตรชันเมมเบรนเพื่อลดการอุดตันที่ผิวเมมเบรน การศึกษาระบบอัลตราฟิลเตรชันเมมเบรนเพื่อกำจัดสารพีวีเอในน้ำเสียพีวีเอสังเคราะห์โดยไม่ผ่านกระบวนการโคแอกกูเลชัน พบว่าที่ความดันทรานส์เมมเบรนเท่ากับ 2 bar และที่ขนาดรูพรุน 150 kDa มีประสิทธิภาพในการกำจัดสาร พีวีเอมากที่สุดเท่ากับ 90.25% และมีประสิทธิภาพในการกำจัดความขุ่น ค่าซีโอดี เท่ากับ 70.59% และ 83.44% ตามลำดับ ที่ความเข้มข้นน้ำเสียพีวีเอสังเคราะห์ 400 mg/L เมื่อศึกษากระบวนการร่วมโคแอกกูเลชัน-อัลตราฟิลเตรชันในน้ำเสียกระบวนการลอกแป้ง โดยใช้ MgCl2 เป็นสารสร้างตะกอน จากการทดลองพบว่าประสิทธิภาพในการกำจัดสารพีวีเอมากที่สุด คือที่ขนาดรูพรุน 150 kDa