Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบ้านวังกะในฐานะเครื่องมือสืบทอดและนำเสนอความเป็นมอญ พร้อมทั้งวิเคราะห์อัตลักษณ์และบทบาทของประเพณีพิธีกรรมดังกล่าวในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย ผู้วิจัยเก็บข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2561-2564 ในชุมชนมอญบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ผลการศึกษาพบว่า ชาวมอญบ้านวังกะอพยพมาจากหลากหลายพื้นที่ในรัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบ้านวังกะสะท้อนอัตลักษณ์การนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผีบรรพบุรุษ ประเพณีสิบสองเดือนมีทั้งหมด 17 ประเพณี เป็นประเพณีระดับชุมชนที่มักเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาโดยมีวัดวังก์วิเวการามและเจดีย์พุทธคยาเป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรม ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตมีทั้งหมด 7 ประเพณี เป็นประเพณีในระดับครอบครัวและระดับชุมชนเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมในระยะเวลา
เปลี่ยนผ่านของชีวิต ประเพณีสิบสองเดือนเป็นศูนย์รวมชาวมอญพลัดถิ่นในอำเภอสังขละบุรีที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ หลอมรวมให้เป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกันและก่อให้เกิดพลังทางสังคม ส่วนประเพณีเกี่ยวกับชีวิตช่วยยึดโยงความเป็นมอญดั้งเดิมจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ในบริบทของการท่องเที่ยว ชุมชนมอญบ้านวังกะเปิดเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ชาวมอญเลือกประเพณีสิบสองเดือนซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์การนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์และตลาดนิพพาน และประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนประเพณีเกี่ยวกับชีวิตซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์การนับถือผีบรรพบุรุษยังคงแนบแน่นในวิถีชีวิตของชาวมอญบ้านวังกะ ประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบ้านวังกะเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่นำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือในการธำรงและสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นมอญ บริบทสังคมไทยส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนประเพณีพิธีกรรม
แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นมอญบ้านวังกะอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกันชาวมอญบ้านวังกะมีความพยายามในการธำรงและสืบทอดสำนึกชาติพันธุ์และอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นมอญผ่านการประกอบประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ
ประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบ้านวังกะมีบทบาทในการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นมอญและสืบทอดสำนึกชาติพันธุ์ รวมทั้งยังมีบทบาทในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีให้น่าสนใจ โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการสร้าง
ความมั่นคงทางจิตใจ รักษาระเบียบแบบแผนของสังคมมอญ ให้ความเพลิดเพลินและเป็นทางออกให้กับความคับข้องใจ และเป็นศูนย์รวมและสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชาวมอญพลัดถิ่นในอำเภอสังขละบุรี
งานวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นความสำคัญของข้อมูลคติชนวิทยาประเภทประเพณีพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องอัตลักษณ์ รวมทั้งนำไปสู่
ความเข้าใจเรื่องคติชนสร้างสรรค์ มอญศึกษา และการศึกษาคนพลัดถิ่น