Abstract:
เททราไซคลิน (TC) เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงทำให้ TC ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยา TC เป็นเวลานานและใช้อย่างไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสารตกค้างในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้ในหลายประเทศมีการกำหนดระดับยา TC สูงสุดที่อนุญาตให้ตรวจพบได้ในอาหาร (MRLs) ในปัจจุบัน วิธีอิมมูโนโครมาโทรกราฟิกแอสเสย์ (ICA) หรือ แถบทดสอบ เป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้ตรวจกันคัดกรองเบื้องต้น เนื่องจากใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลน้อย ประเมินผลได้ด้วยสายตา และสามารถนำไปตรวจในภาคสนามหรือในหน้างานนั้นได้ นอกจากนี้แถบทดสอบยังมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจวิเคราะห์เชิงคุณภาพหรือกึ่งปริมาณ ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอิมมูโนโครมาโทกราฟีสำหรับตรวจวัดเททราไซคลินตกค้างในน้ำผึ้ง โดยมีวิธีการเตรียมแถบทดสอบ 2 แบบ คือวิธีการทำด้วยมือ (handmade method) และวิธีการใช้เครื่องจ่ายสารระดับไมโครลิตร โดยทำการเชื่อมโมโนโคลนอลแอนติบอดี กับอนุภาคทองขนาด 40 นาโนเมตร และ TC เชื่อมกับ bovine serum albumin จากวิธีการทำแถบทดสอบด้วยมือ พบว่าแถบทดสอบมีค่าขีดจำกัดของการวัด TC ด้วยสายตา เท่ากับ 1 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และมีช่วงการวัดของแถบทดสอบ TC อยู่ในช่วง 1–100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการเตรียมแถบทดสอบด้วยมือมีข้อจำกัดหลายอย่างเช่น ความสม่ำเสมอหรือความสามารถในการทำซ้ำ ส่งผลถึงความเข้มสีและความกว้างของแถบเส้นทดสอบ รวมทั้งการเตรียมในปริมาณมากทำได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้ เมื่อทำการเตรียมแถบทดสอบโดยใช้เครื่องจ่ายสารระดับไมโครลิตร และหาค่าความไวของแถบทดสอบ TC โดยการประเมินด้วยสายตาร่วมกับโปรแกรมอ่านค่าสี ImageJ รุ่น 1.47m พบว่าแถบทดสอบมีค่าขีดจำกัดของการวัด TC เท่ากับ 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และมีช่วงการวัดของแถบทดสอบ TC อยู่ในช่วง 10–40 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร เมื่อนำแถบทดสอบ TC ทดสอบปฏิกิริยาข้ามกับสารปฏิชีวนะในและนอกกลุ่ม TCs พบว่าแถบทดสอบไม่เกิดปฏิกิริยาข้ามกับสารปฏิชีวนะในและนอกกลุ่ม TCs จากนั้นนำแถบทดสอบ TC มาตรวจหา TC ตกค้างในตัวอย่างน้ำผึ้งพบว่า ให้ค่าความถูกต้องของการตรวจวัดในรูปของค่าอัตราการคืนกลับในช่วงยอมรับได้ที่ 93–116 % และมีค่าความแม่นยำในการตรวจวัดในรูปของค่าความแปรปรวนอยู่ในช่วงยอมรับได้ที่ 1.0–8.6 % ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จากการทดลองทั้งหมดสรุปได้ว่าแถบทดสอบ TC ที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้ตรวจ TC ได้อย่างน่าเชื่อถือ