Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการใช้สารสกัดจากเปลือกแก้วมังกรแดงส่วน mesocarp ร่วมกับโซเดียมแลกเทตในการยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคและลดการเสื่อมเสียของคัสตาร์ดครีม โดยหาอัตราส่วนตัวทำละลายที่เหมาะสมในการสกัด ศึกษาสมบัติการต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดที่ได้และของโซเดียมแลกเทต ประเมินการเสริมฤทธิ์ของสารผสม และประยุกต์ใช้เป็นสารต้านจุลินทรีย์ในคัสตาร์ดครีม วัดปริมาณเบต้าไซยานิน สารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด และองค์ประกอบทางเคมีในสารสกัดด้วยวิธี HPLC วัดสมบัติการต้านจุลินทรีย์ด้วยวิธี agar well diffusion วิเคราะห์ค่า minimum inhibitory concentrations (MIC) และ minimum bactericidal concentration (MBC) วิเคราะห์ค่าทางเคมี กายภาพและการเจริญของเชื้อผสม (culture cocktail) ที่เติมลงในคัสตาร์ดครีม จากการศึกษาพบว่าการใช้เอทานอลผสมกับน้ำที่อัตราส่วน 50:50 (v/v) ในการสกัดให้ปริมาณเบต้าไซยานินและสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดสูงที่สุด เท่ากับ 53.80±1.15 mg/ 100 g dry wt. และ 387.67±26.74 mgGAE/ 100 g dry wt. ตามลำดับ สารสกัดที่ได้ประกอบด้วย betacyanin, gallic acid, caffeic acid, ferulic acid, rutin และ pyrogallol มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคมาตรฐาน ได้แก่ Staphylococcus aureus, Bacillus cereus, Salmonella Typhimurium และ Escherichia coli มีค่าเฉลี่ยของเส้นผ่าศูนย์กลางของฤทธิ์ยับยั้ง (clear zone) อยู่ในช่วง 2.08±0.10-21.06±0.14 mm และมีค่า MIC และ MBC อยู่ในช่วง 7.81-15.63 mg/mL และ 15.63-250 mg/mL ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของโซเดียมแลกเทต มีค่า MIC และ MBC อยู่ในช่วง 1.88-7.5% และ 7.5- มากกว่า 30% ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดร่วมกับโซเดียมแลกเทตมีฤทธิ์เสริมกัน (synergistic effect) โดยสารผสมแสดงค่า MIC และ MBC ลดลงจากความเข้มข้นเดิมมากกว่าร้อยละ 50 ใช้อัตราส่วนของสารสกัดต่อโซเดียมแลกเทตต่อคัสตาร์ดครีมที่ 6.25:1:100 ในคัสตาร์ดครีมที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 °C เป็นเวลา 7 วัน พบว่าคัสตาร์ดครีมที่เติมสารผสมมีสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูงกว่า มีค่า hardness และ %syneresis ต่ำกว่าคัสตาร์ดครีมตัวอย่างควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) จึงทำให้เพิ่มอายุการเก็บรักษาได้มากกว่า 7 วัน และการเติมสารผสมสามารถลดจำนวนของ B. cereus และ S. Typhimurium ได้ 2.16 และ 2.04 log CFU/g ตามลำดับ แต่ไม่ลดจำนวนของ S. aureus และ E. coli การใช้สารสกัดเปลือกแก้วมังกรแดงร่วมกับโซเดียมแลกเทตสามารถรักษาคุณภาพทางกายภาพและทางเคมี รวมถึงลดอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค B. cereus และ S. Typhimurium ในคัสตาร์ดครีมได้