Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องของหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและความคิดเห็นของผู้รับสาร โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการศึกษาเนื้อหาจากวรรณกรรมร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเขียนและผู้รับสาร ผลการวิจัยพบว่า 1) หนังสือที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวไทยทุกเรื่องเล่าถึงบรรยากาศภายในบ้านและปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเล่าของผู้ประพันธ์ชาวไทยผูกติดกับปัญหาครอบครัว และสถานที่ที่พบการเล่าถึงรองลงมาคือโรงพยาบาลที่ผู้ประพันธ์เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า 2) หนังสือฉบับแปลที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวเกาหลีใต้เล่าถึงบรรยากาศภายในบ้านและปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเช่นเดียวกับที่พบในเรื่องเล่าที่เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวไทย อาจสันนิษฐานได้ว่าด้วยค่านิยมการเลี้ยงดูของครอบครัวชาวเอเชียที่ใกล้เคียงกันจึงทำให้เกิดลักษณะร่วมนี้ขึ้น ในขณะที่เรื่องที่เขียนโดยชาวตะวันตก ไม่ได้เล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวเท่าใดนัก เน้นไปที่การเล่าถึงสภาพสังคมที่ให้ค่ากับวัตถุจนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้คนในสังคมและนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ แก่นความคิดหลักที่พบในทุกเรื่องที่นำมาศึกษาคือการมีความหวังที่ผู้ป่วยจะสามารถรักษาโรคซึมเศร้าให้หายหรือมีอาการดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่ได้กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่เพียงลำพัง อย่างน้อยยังมีผู้ประพันธ์ที่กำลังเผชิญและต่อสู้กับโรคนี้อยู่ด้วยเช่นกัน หนังสือประเภทนี้จึงเป็นเหมือนเพื่อนที่เข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่และคอยเป็นกำลังใจให้ และ 3) ผู้รับสารคิดว่าหนังสือประเภทนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน แต่ที่ควรอ่านเป็นพิเศษคือครอบครัวและคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อที่จะได้เข้าใจและระวังไม่กระทำการใดๆ ที่อาจเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ขณะเดียวกันผู้ที่ต้องระวังความเหมาะสมของเนื้อหาและสภาพจิตใจของตนเองเป็นพิเศษก่อนอ่านคือผู้อ่านที่เป็นผู้ป่วยและสภาพจิตใจยังไม่มั่นคงนัก เนื่องจากเนื้อหาของบางเรื่องอาจกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้