Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การศึกษาแนวคิดจากกรณีตัวอย่างนิทรรศการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนิทรรศการที่ประยุกต์ใช้ทรานส์มีเดียจากคลังข้อมูลของศูนย์ออกแบบงานสร้างสรรค์ (Creative Economic Agency) รวมถึงการสัมภาษณ์เพื่อสอบถามถึงเบื้องหลังในการออกแบบนิทรรศการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 2.การออกแบบนิทรรศการเชิงทดลอง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเฉพาะบริบทดนตรีทางเลือก โดยประยุกต์ใช้แนวคิดทรานส์มีเดียในการเล่าเรื่อง 3.การทดสอบประสิทธิภาพของการออกแบบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เข้าชมนิทรรศการ และการสัมภาษณ์รายบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญในด้านสื่อและนิทรรศการ โดยวิเคราะห์ เชื่อมโยง และสรุปผล
ผลการวิจัยพบว่า นิทรรศการที่เล่าเรื่องแบบทรานส์มีเดีย อาศัยคุณลักษณะสองประการ ได้แก่ การปฏิสัมพันธ์ (interactive) และ ความดื่มด่ำ (immersive) เพื่อนำผู้ชมนำไปสู่การสร้างพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วม ในด้านการรับรู้เนื้อหาที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรีนอกกระแส พบว่า ผู้ชมส่วนใหญ่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่เกี่ยวกับดนตรีนอกกระแส โดยให้ความสนใจกับเนื้อหาที่สร้างสรรค์โดยผู้ชมคนอื่น โดยนอกจากการสื่อสารจะนำไปสู่การรับรู้ความหลากหลายของดนตรีนอกกระแสแล้ว เรื่องเล่าที่ประกฎในนิทรรศการยังนำไปสู่ข้อถกเถียงทางสังคม (public discussion) ที่เปิดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อถกเถียงในเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมดนตรีในบริบทของไทย