Abstract:
ยาทีโนโฟเวียร์เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ใช้เป็นส่วนประกอบของสูตรยาหลักในการรักษาผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ยาทีโนโฟเวียร์ทำให้การทำงานของไตลดลง แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติการณ์ รวมทั้งระยะเวลาที่ทำให้เกิดการทำงานของไตผิดปกติในผู้ใหญ่ไทยที่ใช้ยาทีโนโฟเวียร์ วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาทีโนโฟเวียร์กับการเกิดภาวะการทำงานของไตบกพร่องและโรคไตเรื้อรัง การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบ Retrospective cohort ทำการศึกษากับผู้ใหญ่ไทยที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีและเริ่มมารับการรักษาที่คลินิกเอชไอวี รพ.ตำรวจ ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2552-31 ธันวาคม พ.ศ.2558 เปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์ รวมทั้งระยะเวลาของการเกิดการทำงานของไตผิดปกติในกลุ่มที่ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่มีและไม่มียาทีโนโฟเวียร์เป็นส่วนประกอบในสูตรยากลุ่มละ 700 คน ผลการศึกษาพบว่า อัตราอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะการทำงานของไตบกพร่องในกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับยาทีโนโฟเวียร์ คือ 27.66/1,000 คน-ปี และ 5.54/1,000 คน-ปี อัตราอุบัติการณ์ของการเกิดโรคไตเรื้อรังในกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับยาทีโนโฟเวียร์ คือ 4.52/1,000 คน-ปี และ 2.29/1,000 คน-ปี จากการวิเคราะห์ด้วย Mixed model method พบว่า ค่าเฉลี่ยอัตราการกรองของไตของผู้ป่วยลดลงทั้ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับยาทีโนโฟเวียร์มีค่าเฉลี่ยของอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 1.92 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร (p-value = 0.022) Adjusted hazard ratio ของการเกิดภาวะการทำงานของไตบกพร่องในผู้ป่วยที่ได้รับยาทีโนโฟเวียร์ คือ 5.57 (95% CI 2.87-10.79, p-value <0.001) Adjusted hazard ratio ของการเกิดโรคไตเรื้อรังในกลุ่มที่ได้รับยาทีโนโฟเวียร์ คือ 2.36 (95% CI 0.76-7.33, p-value = 0.138) อัตราการกรองของไตลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีแรกหลังเริ่มได้รับยาทีโนโฟเวียร์ การตรวจติดตามการทำงานของไตอย่างใกล้ชิดจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติของไตในอนาคต