Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดการรำละครไทยตัวพระผู้หญิง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การทดลองและการสนทนากลุ่มย่อยประกอบกับประสบการณ์ของผู้วิจัยในการสอนรำไทยมากว่า 40 ปี สรุปผลการวิจัยด้วยรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยศึกษาจากการฝึกทักษะเพลงช้าเพลงเร็ว(แบบเต็ม)และการสวมบทบาทเป็นตัวละคร(พระ)ในเรื่องอิเหนาของกรมศิลปากร ผลการวิจัยพบว่า ตัวพระผู้หญิงเริ่มเป็นตัวละครรำของหลวงในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและรับแสดงได้ทั่วไปในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน สำหรับการฝึกผู้หญิงให้เป็นตัวละครพระนั้นความสำคัญอยู่ที่การจัดระเบียบร่างกายที่ใช้ในการรำ 8 ส่วน ได้แก่ ศีรษะ ไหล่ ลำตัว แขน มือ นิ้วมือ ขาและเท้าให้ได้ในแบบของตัวละครพระตั้งแต่การทรงตัวตรงโดยกำหนด 5 จุดสำคัญของร่างกายได้แก่ กลางหน้าผาก ระหว่างอก สะดือและหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างให้อยู่แนวเดียวกัน หากอยู่ในท่าผสมเท้าไหล่ที่เอียงลงมาด้านข้างจะไม่เกินเข่าที่ยืน แต่หากเป็นการก้าวเท้าปลายไหล่ที่เอียงจะไม่เกินปลายเท้าที่ก้าวหรือที่ยืน ระดับมือสูงที่สุดอยู่ที่แง่ศีรษะส่วนระดับล่างสุดมือจะอยู่ด้านหลังประมาณสะโพกและหากมีการรวมมือเข้าหาลำตัวด้านหน้าต้องกันแขนให้มีช่องว่างระหว่างข้อศอกกับลำตัวอย่างน้อย 1 ฝ่ามือ ในการเคลื่อนไหวให้ร่างกายส่วนล่างตั้งแต่สะโพกลงไปต้องตั้งตรงและนิ่งไว้สามารถย่อให้เกิดเหลี่ยมมุมกว้างตรงเข่าและยืดตัวขึ้นได้โดยมีสามัญลักษณะเฉพาะของรำไทยคือการห่มตัวหรือที่เรียกว่า “ห่มเข่า” ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนท่ารำในขณะที่ร่างกายส่วนบนจะเอนไปทางขวาหรือซ้าย จากนั้นจึงเป็นการฝึกรำเพลงช้าและเพลงเร็ว ลา ซึ่งพบว่ามีองค์ความรู้ที่เป็นหลักการรำไทย 5 ประการ คือ 1.แบบท่าขององคาพยพในการรำ 2.รูปแบบโครงสร้างท่ารำหลักและท่ารำรอง 3.วิธีการเชื่อมท่ารำ 4.วิธีการเคลื่อนไหวอย่างรำไทยและ5.การใช้พลังในการรำไทย ขั้นต่อไปเป็นการฝึกรำตีบทเพื่อพัฒนาให้สามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครพระในการแสดงละครรำประกอบด้วยทักษะการรำอย่างตัวพระผู้หญิงจากการรำเพลงช้าเพลงเร็วและวิธีการสวมบทบาทเป็นตัวละครด้วยการตีบทแบบมีและไม่มีเนื้อร้องในบทบรรยาย บทเจรจาและบทแสดงอารมณ์รวมถึงการใช้ใบหน้าร่วมกับท่ารำเพื่อสร้างอรรถรสในการชม แนวคิดการรำไทยนี้จึงนับเป็นรากฐานและคุณูปการแก่บุคลากรในงานวิทยาการและวิชาชีพศิลปะการแสดงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน