Abstract:
การวิจัยเรื่อง “การพึ่งพาสื่อของประชาชนในเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” กำหนดวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อสำรวจความต้องการเนื้อหาข่าวสาร ช่องทางการเปิดรับข่าวสารปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความต้องการเนื้อหาข่าวสาร รวมทั้งการรับรู้ ความรู้สึก และพฤติกรรมตอบสนองต่อเหตุการณ์อุทกภัยของประชาชน 2) เพื่ออธิบายการพึ่งพาสื่อของประชาชนในเหตุการณ์อุทกภัย ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 400 คน และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 413 คน รวมจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 813 คน ในช่วงหลังเหตุการณ์อุทกภัยปี 2557 ผลการทดสอบสมมติฐานความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาสื่อในสถานการณ์อุทกภัย สรุปได้ว่า ความคิดเห็นต่อการทำหน้าที่ของสื่อในการเสนอข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วม (β = 0.333) และสถานการณ์น้ำท่วม (β =0.269) เป็นปัจจัยหลักที่มีความสัมพันธ์กับผลกระทบต่อบุคคลในภาพรวม สามารถสรุปยืนยันได้ว่า การพึ่งพาสื่อของบุคคลในสถานการณ์อุทกภัยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์อุทกภัย และการทำหน้าที่ของสื่อและช่องทางต่าง ๆ ที่นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับอุทกภัยเป็นไปตามทฤษฎีการพึ่งพาสื่อ (Media Dependency Model) นอกจากนี้ผลการวิจัยสามารถสรุป อธิบายการพึ่งพาสื่อของประชาชนในเหตุการณ์อุทกภัยเพิ่มเติมได้อีกว่า ในเหตุการณ์ที่ประชาชนต้องเผชิญกับอุทกภัยในระดับที่ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และชุมชนระดับมาก ประชาชนทั้งเพศหญิงและเพศชาย ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 12-40 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง มีการศึกษาระดับมัธยม อนุปริญญา จนถึงปริญญาตรี มีรายได้ 10,000-40,000 บาท มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และนักเรียน นักศึกษา พักอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นเวลามากกว่า 10 ปี มีที่พักอาศัยเป็นบ้านเดี่ยว บ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเช่า ห้องเช่า มีจำนวนผู้พักอาศัยร่วมกันโดยเฉลี่ย 3-4 คน ทั้งช่วงวัยเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ จะมีความต้องการข่าวสารด้านการเตรียมพร้อมกับเข้าที่พัก ด้านความช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ และด้านสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีพมากที่สุด ความต้องการข่าวสารดังกล่าว เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนแสวงหาข่าวสารที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ และได้ประเมินแล้วว่าสื่อโทรทัศน์สามารถพึ่งพาได้มากที่สุด ด้วยเหตุผลว่าสามารถทำหน้าที่ด้านการให้ข่าวสารเตือนภัยได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังพึ่งพาสื่ออื่น ๆ ด้วย ได้แก่ บุคคลใกล้ชิดในครอบครัวและเพื่อน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเฟซบุ๊ก ผลของการพึ่งพาสื่อ 4 ประเภทดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนรับรู้ว่าน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงและเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของตน และด้วยการที่เขาสามารถพึ่งพาสื่อได้เพราะสื่อให้ข้อมูลตามที่ต้องการ ส่งผลให้ประชาชนมีการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างถูกต้อง ที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจให้ตนเองปลอดภัยได้มาก แม้จะเกิดความรู้สึกกลัว แต่ความกังวลว่าจะไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันในระหว่างและหลังน้ำท่วมได้กลับมีไม่มากนักส่งผลให้มีพฤติกรรมตื่นตัว โดยมีการจัดเก็บของหนีน้ำ การสำรองน้ำดื่มและอาหาร และการเตรียมอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วม อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีพฤติกรรมเฉื่อยชาโดยไม่ติดตามข่าวสารน้ำท่วมและไม่ทำตามคำแนะนำเพื่อให้ปลอดภัยจากน้ำท่วมอยู่บ้างเช่นกัน