Abstract:
การศึกษาการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของลักษณะต้านออกซิเดชันในข้าวกล้องเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญเพื่อการประมาณความเป็นไปได้ของการคัดเลือกข้าวที่มีสารต้านออกซิเดชันสูง ในประชากรรุ่นลูกจากคู่ผสม “RD41” × “Riceberry” ประชากรนี้ได้ถูกสร้างขึ้นและปลูกที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 ถึงเดือนธันวาคม 2560 วัตถุประสงค์คือ ศึกษาการถ่ายทอดลักษณะต้านออกซิเดชันของข้าวกล้องในประชากรรุ่น F2 ที่ได้จากคู่ผสม “RD41” (P1) × “Riceberry” (P2) เมล็ดข้าวกล้องของ P1 P2 F1 และ F2 ถูกนำมาสกัดด้วย 1% HCl ในเมธานอล จากนั้น ปริมาณของลักษณะต้านออกซิเดชันที่ประกอบด้วย ปริมาณสารฟีโนลิคทั้งหมด (TPC) ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ทั้งหมด (TFC) และปริมาณสารแอนโทไซยานินทั้งหมด (TAC) ส่วนฤทธิ์ต้านออกซิเดชันประกอบด้วยวิธี ABTS radical scavenging (ABTS) และ Ferric reducing antioxidant power (FRAP) ได้ถูกวิเคราะห์ ผลการศึกษา พบว่าสีของเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวควบคุมด้วยยีนด้อยสองคู่ ส่วนการกระจายความถี่ของลักษณะต้านออกซิเดชันของข้าวรุ่น F2 เป็นการกระจายอย่างต่อเนื่องและไม่เป็นโค้งปกติ นอกจากนี้ การกระจายตัวยังแสดงว่าเกินขอบเขตของพ่อแม่ สหสัมพันธ์ในเชิงบวกต่อกันสูงระหว่างทุกลักษณะต้านออกซิเดชัน (r=0.910-0.973, p=0.01) ค่าสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนเนื่องจากพันธุกรรม (GCV) สัมประสิทธิ์ความแปรปรวนของลักษณะปรากฏ (PCV) อัตราพันธุกรรม (H2) และค่าร้อยละความก้าวหน้าทางพันธุกรรม (%GA) แสดงค่าสูงและอยู่ในช่วงจาก 40.08-117.62 44.13-124.35 0.82-0.94 และ 75.16-229.74 ตามลำดับ และความแตกต่างระหว่าง GCV และ PCV มีค่าต่ำและอยู่ในช่วงจาก 1.57-6.73 ผลการทดลองทั้งหมดเสนอให้เห็นว่าลักษณะต้านออกซิเดชันของประชากรนี้ถูกแสดงออกด้วยการถ่ายทอดเชิงปริมาณของยีนหลายตำแหน่ง ถูกควบคุมด้วยยีนด้อย และถูกบ่งชี้ว่าได้รับอิทธิพลจากยีนมากกว่าสภาพแวดล้อม ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ของการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อให้มีลักษณะสารต้านออกซิเดชันสูงจากประชากรนี้ได้เป็นผลสำเร็จ