Abstract:
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ตรวจคัดกรองตัวอย่างโลหิตจากผู้บริจาคโลหิตทุกคน ด้วยทั้งวิธีน้ำเหลืองวิทยา และการตรวจหาสารพันธุกรรม ผู้บริจาคโลหิตที่อาจเป็นอีลีทคอนโทรลเลอร์ คือผู้บริจาคที่ผลตรวจน้ำเหลืองวิทยาให้ผลบวกซ้ำ แต่การตรวจหาสารพันธุกรรมให้ผลลบ และยังไม่มีการศึกษาในประเทศไทยถึงสาเหตุของกลุ่มนี้ว่ามาจากพันธุกรรม (อีลีทคอนโทรลเลอร์จริง) หรือการใช้ยาต้านไวรัส (อีลีทคอนโทรลเลอร์ปลอม) วัตถุประสงค์ เพื่อหาความชุกของอีลีทคอนโทรลเลอร์ปลอมในผู้บริจาคโลหิตชาวไทยที่ผลการตรวจด้วยวิธีน้ำเหลืองวิทยาให้ผลบวก แต่การตรวจหาสารพันธุกรรมให้ผลลบ วัสดุและวิธีการ ตัวอย่างพลาสมาแช่แข็งจากผู้บริจาคโลหิต จำนวน 70 ราย ที่อาจเป็นอีลีทคอนโทรลเลอร์ที่เก็บระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 นำไปตรวจหายากลุ่ม nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) ตัวอย่างที่ให้ผลบวกได้รับการตรวจหายากลุ่ม non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) และ protease inhibitors (PIs) เพิ่มเติม นอกจากนี้ทุกตัวอย่างจะได้รับการตรวจเพิ่มด้วย Geenius HIV-1/2 confirmatory assay ด้วย ผลการศึกษา พบว่ามี 1 ตัวอย่าง (1.43%) ที่ให้ผลบวกกับกลุ่มยา NRTIs (tenofovir และ emtricitabine) จากผู้บริจาคโลหิตที่อาจเป็นอีลีทคอนโทรลเลอร์ 70 คน ซึ่งเท่ากับ 0.02% ของผู้บริจาคโลหิตทั้งหมดในช่วงเวลานั้น ตรวจพบยา efavirenz จากการตรวจเพิ่มเติมกับกลุ่มยา NNRTIs และให้ผลบวกกับ HIV-1 ด้วย การตรวจ Geenius HIV-1/2 confirmatory assay ตัวอย่างอีก 69 ตัวอย่างที่ให้ผลลบกับยา NRTIs มี 1 ตัวอย่าง (1.45%) ให้ผลบวกกับ HIV-1 อีก 2 ตัวอย่าง (2.90%) ให้ผลสรุปไม่ได้กับ HIV-2 และ 1 ตัวอย่าง (1.45%) ให้ผลสรุปไม่ได้กับ HIV-1 จากการตรวจยืนยันด้วย Geenius HIV-1/2 confirmatory assay สรุป ความชุกของอีลีทคอนโทรลเลอร์ปลอมในผู้บริจาคโลหิตชาวไทยที่ผลการตรวจด้วยวิธีน้ำเหลืองวิทยาให้ผลบวก แต่การตรวจหาสารพันธุกรรมให้ผลลบ คือ 1.43% และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมทางพันธุกรรมในผู้ติดเชื้อ HIV เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป