Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการทำกิจกรรมประจำวันของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงก่อนและระหว่างการระบาดของ COVID-19 การวิจัยใช้วิธีการสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์(Line) และกูเกิลชีต (Google sheet)จากกลุ่มตัวอย่างประชากรในพื้นที่ศึกษาจำนวน 377 คน จากนั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลตามหลักการและแนวคิดทางภูมิศาสตร์ ผลการศึกษาและอภิปรายสรุปได้ว่า1)การทำกิจกรรมประจำวันของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงก่อนและระหว่างการระบาดมีความแตกต่างกันในระหว่างการระบาดความถี่การเดินทางเพื่อทำกิจกรรมประจำวันในด้านต่าง ๆ ลดลง ได้แก่ การเดินทางไปทำงานหรือเรียน การเดินทางไปจับจ่ายซื้อของหรือใช้บริการ การเดินทางเพื่อสังสรรค์/นันทนาการ รวมถึงการลดลงของชั่วโมงเฉลี่ยในการทำกิจกรรมนอกบ้านและการใช้บริการขนส่งสาธารณะ 2) การศึกษาการทำกิจกรรมประจำวันของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถประยุกต์แนวคิดทฤษฎีภูมิศาสตร์เวลา (Time-Geography theory)มาใช้ได้ก่อนการระบาดของ COVID-19ใช้แบบจำลองปริซึมพื้นที่-เวลา (Space-time prism) ส่วนในระหว่างการระบาดของ COVID-19 ใช้แบบจำลองปริซึมพื้นที่-เวลาเสมือน (Virtual time-space) โดยนำ‘เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร’(Information and communications technology [ICT]) มาเป็นตัวแปรแทน‘ระยะทาง’ในแบบจำลองเดิม3) หลังการระบาดของ COVID-19 ทัศนคติของชาวเมืองและรัฐบาลในชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจพัฒนากรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีความเป็นอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ มากขึ้น