Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการวัสดุคงคลังของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จำนวน 24 รายการที่มีการควบคุมดูแลแบบต่อเนื่อง (Continuous Review) ของโรงงานเซมิคอนดักเตอร์กรณีศึกษาแห่งหนึ่ง โดยการกำหนดนโยบายวัสดุคงคลังที่เหมาะสมสำหรับวัสดุคงคลังแต่ละรายการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายรวมอันประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อ และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ โดยที่ยังสามารถรักษาระดับการให้บริการที่ 95% ตามกลยุทธ์ของโรงงานไว้ได้ โดยงานวิจัยนี้เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลของวัสดุคงคลัง ข้อมูลการสั่งซื้อ เงื่อนไขการสั่งซื้อ และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการสั่งซื้อ จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์รูปแบบความต้องการ (Demand Pattern) ของวัสดุคงคลังแต่ละรายการ พบว่าสามารถแบ่งแยกรูปแบบ ความต้องการออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. Smooth Demand 2. Erratic Demand จากนั้น จึงกำหนดนโยบายวัสดุคงคลังตามรูปแบบของความต้องการ โดยมีแนวคิดในการออกแบบนโยบายวัสดุคงคลังคือสามารถสั่งเติมวัสดุคงคลังได้เสมอ เนื่องจากรูปแบบการตรวจสอบวัสดุคงคลังเป็นแบบต่อเนื่อง ซึ่งในที่นี้ได้นำเสนอนโยบายของกลุ่มที่มีความต้องการแบบ Smooth Demand คือ Re-Order Point (ROP) และ Erratic Demand ผู้วิจัยประยุกต์ใช้นโยบายแบบจำลองจุดสั่งซื้อ-ระดับสั่งซื้อ หรือ (s, S) สำหรับการกำหนดจุดสั่งซื้อและการกำหนดระดับวัสดุคงคลังสำรอง
ผลการดำเนินงานวิจัยจากการกำหนดนโยบายสั่งซื้อที่เหมาะสม จากการทดสอบด้วยข้อมูล 2 ปี ได้แก่ ปี 2019 และปี 2020 พบว่า ค่าใช้จ่ายรวมของวัสดุคงคลังปี 2019 ลดลงจาก 111,832 เหรียญสหรัฐฯต่อปี เป็น 46,288 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี คิดเป็น 58.61% และปี 2020 ค่าใช้จ่ายรวมลดลงจาก 132,886 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 51,404 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 64.29% โดยที่ยังสามารถคงระดับการให้บริการแบบ Fill Rate ของปี 2019 และปี 2020 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 95.13% และ 95.36% ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบความคงทนของนโยบายใหม่โดยการทดสอบความไวต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการ ในสถานการณ์ที่ความต้องการลดลงจากเดิม 50% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของโรงงานกรณีศึกษา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 13% แต่ยังคงสามารถรักษาระดับการให้บริการที่ 95% ไว้ได้